การตรวจเพศนักกีฬาหญิงเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13
การตรวจเพศนักกีฬาหญิง เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13
รศ.พญ.จินตนา ศิรินาวิน
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 นักกีฬาหญิงทุกคนต้องผ่านการตรวจยืนยัน เพศ (gender verification test) ทั้งนี้เป็นไปตามกฎของสภาโอลิมปิกแห่งเอเซีย เพื่อให้เกิดความ ยุติธรรมในการแข่งขัน โดยนักกีฬาที่ลงแข่งขันประเภทกีฬาหญิงมีสภาพร่างกาย เท่าเทียมกัน ไม่มีเพศชายปลอมมาแข่งขันด้วย ในการแข่งขันครั้งนี้ รศ.พญ.จินตนา ศิรินาวิน หัวหน้าสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยอณูพันธุศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย ได้รับแต่งตั้งให้ เป็นอนุกรรมการควบคุมทางการแพทย์ รับผิดชอบในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจเพศ นักกีฬาหญิง ทั้งนี้โดยความเห็นชอบและการสนับสนุนของ ศ.นพ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้บริหารคณะฯ ท่านอื่น ๆ รวมทั้งได้รับความร่วมมือ จากภาควิชาและหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะฯ อีกจำนวนมาก
การตรวจเพศนักกีฬาหญิงแต่เดิมนั้นใช้วิธีตรวจหาโฆรมาติน X จากเซลล์เยื่อบุข้างแก้ม ซึ่งจะให้ผลบวกในผู้หญิง ต่อมาพบว่าบนโฆรโมโซม Y มียีน SRY (sex determining region on the Y) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดความเป็นเพศชาย แต่ผู้หญิงไม่มียีนนี้ จึงใช้การตรวจหายีน SRY แทน วิธีนี้มีความแม่นยำและความจำเพาะมาก ทำได้สะดวก แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีเดิม
การตรวจหายีน SRY เพื่อยืนยันเพศนักกีฬาหญิง เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬา โอลิมปิกที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อปี 2535 ปัจจุบันนักกีฬาหญิงที่เข้าแข่งขันใน ระดับนานาชาติ เช่นโอลิมปิกและเอเชี่ยนเกมส์ ต้องตรวจยีน SRY ก่อนลงแข่งขัน หากตรวจ ผ่าน คณะกรรมการจะออกใบรับรองการตรวจเพศ (gender verification certificate) ให้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป
วิธีการตรวจหายีน SRY ที่หน่วยอณูพันธุศาสตร์และสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์พัฒนาขึ้น ใช้เส้นผม 2 เส้นที่มีรากผมเป็นปลอกสีขาวติดอยู่ สกัดดีเอ็นเอจากนิวเคลียสของเซลล์รากผม แล้วเพิ่มปริมาณดีเอ็นของยีน SRY และของโฆรโมโซม X ด้วยเทคนิค PCR (polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ เมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยาจะได้ดีเอ็นเอมากกว่าเดิมนับล้านเท่า หลังจากนั้นแยกท่อนดีเอ็นเอด้วยกระแสไฟฟ้าผ่านตัวกลางที่เป็นวุ้น (gel electrophoresis) แล้วย้อมท่อนดีเอ็นเอ จะเห็นเป็นแถบเรืองแสงเมื่อส่องด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ต ถ่ายภาพท่อน ดีเอ็นเอด้วยกล้องดิจิตัลเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
โดยการตรวจวิธีนี้ ผู้หญิงจะมีแต่ท่อนดีเอ็นเอจากโฆรโมโซม X เพียงท่อนเดียว และ ไม่มีท่อนดีเอ็นเอของยีน SRY เลย นั่นคือการตรวจยีน SRY จะให้ผลลบ
หากพบว่านักกีฬาหญิงคนใดมียีน SRY ก็ต้องตรวจต่อไป เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และ ประเมินว่านักกีฬาหญิงผู้นั้นมีความได้เปรียบโดยมีฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะ ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขันได้ ทั้งนี้ผลการตรวจทั้งหมดต้องเก็บเป็นความลับ เพื่อป้องกันความ เสียหายและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวนักกีฬา การตัดสินขั้นสุดท้ายอยู่ที่ประธาน คณะกรรม การการแพทย์สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย