“วายร้าย” ไวรัสตับอักเสบ

 “วายร้าย”  ไวรัสตับอักเสบ

 

รศ.นพ.พูลชัย  จรัสเจริญวิทยา

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

          ปัญหาการทำงานของตับที่ถูกคุกคามจากไวรัสมีหลายชนิด แต่ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญในบ้านเราคือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี

          ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บางรายเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน อาการคล้ายไข้หวัดและเกิดตัวเหลือง ตาเหลืองตามมา และผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งอาจเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีเพียงอาการอ่อนเพลีย ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เรื้อรังส่วนใหญ่ไม่ได้มาพบแพทย์เนื่องจากไม่มีอาการทางคลินิก จะรู้ว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบก็ต่อเมื่อทำการตรวจค้นหาการติดเชื้อในเลือด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสแบบเรื้อรังบางรายอาจดำเนินโรคจนเกิดภาวะตับแข็งและตับวายในเวลาต่อมา มีอาการดีซ่าน ท้องมาน ขาบวม หรือบางรายมาเกิดอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวาจากมะเร็งตับที่เกิดแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องและต้องมีค่าใช้จ่ายสูง นับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย

          ไวรัสตับอักเสบทั้ง 2 ชนิดนี้ ที่อยู่ในเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย สามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นผ่านบาดแผลที่บริเวณผิวหนังหรือเยื่อบุส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยตรง ดังนั้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์มีคมร่วมกัน เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ และอุปกรณ์ทำความสะอาดฟัน จะสามารถป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้

         การสัมผัสร่างกาย เช่น กอด สัมผัส หรือรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดนี้ ไม่ได้เป็นทางติดต่อของเชื้อไวรัส ดังนั้นผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับบุคคลในครอบครัวหรือเพื่อนได้ตามปกติ

         ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีวรได้รับารตรวจเลือดติดตามการทำานของตับอย่างสม่ำเสมอ    เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดควรได้รับการรักษาจำเพาะด้วยยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือยารับประทาน  ซึ่งมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพดีในการรักษา  อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกรายควรดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยควรงดดื่มสุราและงดการรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ เพื่อหวังผลบำรุงหรือล้างพิษตับ เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบกำเริบขณะที่ใช้สารดังกล่าว  รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าสารดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อตับ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง ควรได้รับการตรวจเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์อย่างสม่ำเสมอ

 

        ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 95 สร้างภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ ซึ่งอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายสิบปี สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาก่อน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ งดการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยติดเชื้อ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด