ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ

ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน

                                   ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

ปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุ และอาจถือเป็นปัญหาของญาติ หรือคนรอบข้างด้วยเหมือนกัน คือ การที่ผู้สูงอายุมีความสามารถในการรับเสียงแย่ลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หูอื้อ หรือหูตึงนั่นเอง และเนื่องจากเป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว ญาติของผู้สูงอายุเอง อาจมีปัญหาอื่นตามมาได้ จากการที่ต้องตะโกนสื่อสารกันเป็นเวลานาน ได้แก่ เสียงแหบ เจ็บคอ ไอ และระคายคอเรื้อรัง เป็นต้น 
      
ภาวะหูอื้อ หรือหูตึง หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการรับเสียงแย่ลง มีการแบ่งระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน ดังตาราง
ระดับการได้ยิน     ระดับความพิการ     ความสามารถในการเข้าใจคำพูด
0-25     dB                         ปกติ                          ไม่ลำบากในการรับฟังคำพูด
26-40   dB                         หูตึงน้อย                    ไม่ได้ยินเสียงกระซิบ
41-55   dB                         หูตึงปานกลาง            ไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ
56-70   dB                         หูตึงมาก                    ไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก
71-90   dB                         หูตึงรุนแรง                 ได้ยินไม่ชัด แม้ต้องตะโกน
>90      dB                         หูหนวก                      ตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยิน
ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติของกลไก 2 ส่วน คือ

     1. ส่วนนำเสียงและขยายเสียง ได้แก่ หูชั้นนอกและหูชั้นกลาง เมื่อคลื่นเสียงจากภายนอกผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบแก้วหู และมีการส่งต่อ และขยายเสียงโดยกระดูกหู 3 ชิ้นในหูชั้นกลาง ไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในหูชั้นนอกและหูชั้นกลางของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาวะหูอื้อ หรือหูตึงได้ สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของ

       - หูชั้นนอก  เช่น ขี้หูอุดตัน, เยื่อแก้วหูทะลุ, หูชั้นนอกอักเสบ, เนื้องอกของหูชั้นนอก

     - หูชั้นกลาง  เช่น หูชั้นกลางอักเสบ, น้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง, ท่อยูสเตเซียน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ, โรคหินปูนในหูชั้นกลาง

     2. ส่วนประสาทรับเสียง ได้แก่ ส่วนของหูชั้นในไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่างๆ ความผิดปกติบริเวณนี้ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะหูตึง หรือหูหนวกถาวรได้ และบางโรคทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของ

     - หูชั้นใน  สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือ ประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้น การเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเกิดจากพันธุกรรม พัฒนาการผิดปกติ หรือการเป็นโรคระหว่างตั้งครรภ์ของมารดาเอง เช่น โรคหัดเยอรมัน, การได้รับเสียงที่ดังมากๆในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน เช่นได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด หรือเสียงประทัด, การได้รับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นอยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ, การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์, ยาขับปัสสาวะ ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง,  ยาแอสไพริน, ยาควินีน, การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะ แล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน, การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อซิฟิลิส หรือไวรัสเอดส์, การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน, มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลาง และหูชั้นใน, โรคมีเนีย หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน

       - สมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ, เลือดออกในสมอง จากไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู และ/หรือ ประสาทการทรงตัว
       - สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจาง, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ, โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง, โรคไต, โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตต่ำ หรือสูง, ไขมันในเลือดสูง โรคเหล่านี้สามารถทำให้หูอื้อ หรือหูตึงได้ จะเห็นได้ว่าโรคที่ทำให้เกิดปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ มีสาเหตุได้ทั้งจากหูชั้นนอก, หูชั้นกลาง และหูชั้นใน  แต่กล่าวโดยทั่วไป หากพูดถึงภาวะหูตึงในผู้สูงอายุ ก็มักจะหมายความถึง การเสียการได้ยินจากประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย (age-related hearing loss หรือ presbycusis)
      
ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของโรคเรื้อรังต่างๆที่เกิดกับผู้สูงอายุ โดยพบได้ถึงร้อยละ 25-40 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามวัย  กล่าวคือ อุบัติการณ์ของผู้สูงอายุที่มีประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย พบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40-60 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี และเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี  โดยธรรมชาติแล้วการได้ยินจะค่อยๆ เสื่อมลงตามวัย การได้ยินบกพร่องของผู้สูงอายุ จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสื่อมเท่ากันทั้ง 2 ข้างในช่วงความถี่สูง ซึ่งจะวินิจฉัยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี และไม่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้การได้ยินบกพร่อง  ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ เนื่องจากมีเสียงรบกวนในหู และมักมีปัญหาฟังไม่รู้เรื่อง หรือได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางตามวัย นอกเหนือไปจากหูชั้นในเสื่อม ทำให้มีปัญหาในการได้ยินมากกว่าผู้ที่มีการได้ยินบกพร่องในระดับเดียวกันที่มีอายุน้อยกว่า
       
การวินิจฉัยปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาศัยการซักประวัติถึงสาเหตุต่างๆที่เป็นไปได้, การตรวจหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู  หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู, การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจการได้ยิน เพื่อยืนยัน และประเมินระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน, การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์สมอง หรือกระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด ถ้ามีข้อบ่งชี้

       การรักษาปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ นั้น รักษาตามสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการได้ยินที่เกิดจากพยาธิสภาพของหูชั้นใน, เส้นประสาทหู, และระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย มักจะรักษาไม่หายขาด นอกจากนั้นถ้าเกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรหาสาเหตุ หรือปัจจัยที่จะทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมเร็วกว่าผิดปกติ เพื่อหาทางชะลอความเสื่อมนั้นด้วย ส่วนประสาทหูเสื่อม บางรายไม่ทราบสาเหตุ หรือทราบสาเหตุ แต่เป็นสาเหตุที่รักษาไม่ได้ อาจหายเองก็ได้ หรือจะเป็นอยู่ตลอดชีวิตก็ได้

        1. แพทย์จะอธิบายให้ผู้สูงอายุ เข้าใจ ว่าสาเหตุของปัญหาการได้ยินเกิดจากอะไร และเป็นอันตรายหรือไม่ และจะหายหรือไม่
        
2. ถ้ามีปัญหาการได้ยินไม่มาก ยังพอได้ยินเสียง ไม่รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมากนัก คือยังพอสื่อสารกับผู้อื่นได้ หรือเป็นเพียงหูข้างเดียว อีกข้างยังดีอยู่  ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ทำใจยอมรับ แต่ควรหาสาเหตุดังกล่าวด้วย
       
 3. ถ้ามีปัญหาการได้ยินมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยเฉพาะถ้าเป็น 2 ข้าง และรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ และเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ควรฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องร่วมกับการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การแยกแยะเสียงได้ชัดเจนขึ้น เช่น ลดเสียงรบกวน และให้คู่สนทนาอยู่ตรงหน้า ไม่พูดเร็ว หรือพูดประโยคยาวเกินไป เพื่อผู้สูงอายุจะได้จับใจความได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของตัวผู้ป่วยเอง และของครอบครัวผู้ป่วยดีขึ้น
        
4.  ถ้าปัญหาการได้ยิน เกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรป้องกันไม่ให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้น โดย
         
-  หลีกเลี่ยงเสียงดัง
         
-  ถ้าเป็นโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคไต, โรคกรดยูริกในเลือดสูง, โรคซีด, โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี เพราะโรคเหล่านี้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง ทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมาก หรือเร็วขึ้น กว่าที่ควรจะเป็น
         
 -  หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
          
-  หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู

          -  หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
        
  -  ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ, ชา, เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน), งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)  สารคาเฟอีน และนิโคติน ทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง ทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมาก หรือเร็วขึ้น กว่าที่ควรจะเป็น

          -  พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด วิตกกังวล และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
         
ดังนั้นปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อมจากอายุ ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ  หรือมีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง หรือเส้นประสาท ก็ได้   ปัญหาการได้ยินดังกล่าว อาจหายได้ หรืออยู่กับผู้ป่วยตลอดชีวิตก็ได้ ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจดีกว่าครับ เมื่อผู้สูงอายุที่ท่านรัก มีปัญหาการได้ยิน ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูกเพื่อหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด