การดูแลท่อหลอดลมคอหลังการเจาะคอ Tracheostomy Tube Care (ตอนที่ 2)
การดูแลท่อหลอดลมคอหลังการเจาะคอ
Tracheostomy Tube Care (ตอนที่ 2)
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วิธีทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ
วัตถุประสงค์ของการถอดล้างท่อหลอดลมคอ
เพื่อป้องกันการอุดตัน และการติดเชื้อของท่อหลอดลมคอ
อุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ ประกอบด้วย
1. ภาชนะใส่น้ำ
2. ชาม หรือหม้อ
3. แปรงขนาดเล็ก ขนเป็ด หรือขนไก่
4. สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน
5. ลูกยางแดง หรือเครื่องดูดเสมหะ
วิธีทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ มีขั้นตอนดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง
2. มือข้างที่ไม่ถนัดจับท่อหลอดลมคอชั้นนอก ส่วนมือข้างที่ถนัดหมุนล็อคช้าๆ และถอดท่อหลอดลมคอชั้นในจากคอ แช่น้ำทิ้งไว้ 5-10 นาที
3. ล้างท่อชั้นในด้วยสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานทั้งด้านนอกและด้านใน แปรงท่อด้านในด้วยแปรงขนาดเล็ก จนกว่าเสมหะหลุดออกหมด และล้างด้วยน้ำให้สะอาด โดยการเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านภายในท่อหลอดลมคอ ถ้าเป็นท่อชนิดพลาสติกระวังอย่าให้มีรอยถลอก
4. นำท่อชั้นในชนิดโลหะต้มในน้ำเดือดนาน 30 นาที แล้วนำขึ้นมาวางไว้ให้หายร้อน สำหรับชนิดพลาสติกให้แช่น้ำยาไฮโปคลอไรท์ 0.5 % นาน 30 นาที และล้างด้วยน้ำต้มสุกมากๆ จนแน่ใจว่าไม่มีน้ำยาเหลือค้างอยู่ในท่อ
5. ก่อนนำไปใช้ ต้องสลัดท่อชั้นในให้แห้งสนิท ไม่ให้มีหยดน้ำค้างอยู่ในท่อเลย
6. ให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกจากคอ หรือดูดเสมหะจากท่อหลอดลมคอชั้นนอกที่ติดอยู่กับผู้ป่วย ด้วยลูกยางแดง หรือใช้เครื่องดูดเสมหะ การดูดแต่ละครั้งไม่ควรนานเกิน 10 วินาที
7. สวมท่อหลอดลมคอชั้นในกลับไปที่คอผู้ป่วยช้าๆ แล้วหมุนล็อคท่อหลอดลมคอให้สนิท เพื่อป้องกันท่อเลื่อนหลุดออกมา
วิธีทำความสะอาดแผลเจาะคอ
วัตถุประสงค์ของการทำแผลเจาะคอ
เพื่อความสุขสบายของผู้ป่วย และเพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณแผล
อุปกรณ์ที่ใช้ทำแผล ประกอบด้วย
1. ปากคีบ
2. น้ำเกลือนอร์มัล 0.9 %
3. แอลกอฮอล์ 70 %
4. กรรไกร
5. สำลีกลม
6. สำลีพันปลายไม้
7. ผ้าก๊อสสี่เหลี่ยมขนาด 3 นิ้ว x 3 นิ้ว
8. พลาสเตอร์ม้วนขนาด 0.5 นิ้ว
9. ถุงพลาสติก
วิธีทำความสะอาดแผลเจาะคอ มีขั้นตอนดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
2. นั่งหน้ากระจก แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำแผลได้เอง ต้องมีผู้ดูแลทำแผลให้ โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย หนุนต้นคอด้วยผ้า หรือหมอนเล็กๆ เพื่อให้คอแอ่นขึ้นเล็กน้อย
3. ใช้กรรไกรตัดพลาสเตอร์ที่ติดบนก๊อส และค่อยๆ ดึงผ้าก๊อสผืนเก่า ที่รองใต้ท่อหลอดลมคอของผู้ป่วยออก
4. ใช้ปากคีบคีบสำลี และเทแอลกอฮอล์ลงบนสำลีพอหมาด เช็ดผิวหนังบริเวณรอบรูท่อหลอดลมคอ และบริเวณรอบๆแผลโดยวนจากด้านในชิดกับท่อ ออกด้านนอกจนสะอาด
5. ใช้ปากคีบคีบสำลีและใช้สำลีพันปลายไม้ และเทน้ำเกลือลงบนสำลีพอหมาด แล้วเช็ดผิวหนังบริเวณใต้ท่อหลอดลมคอทั้งด้านบนและด้านล่าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และทำซ้ำด้วยสำลี หรือสำลีพันปลายไม้อันใหม่จนสะอาด ห้ามใช้ไม้พันสำลีแยงเข้าไปภายในท่อหลอดลมคอ เพราะอาจจะหลุดเข้าไป อุดตันหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกได้
6. ใช้ปากคีบคีบผ้าก๊อสรูปห้าเหลี่ยมที่พับไว้ (รูปที่ 3) รองใต้แป้นท่อหลอดลมคอทีละข้าง แล้วปิดพลาสเตอร์ยึดชายผ้าก๊อสด้านล่างเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันท่อหลอดลมคอเสียดสีกับผิวหนัง ในกรณีที่เป็นท่อปีกนิ่ม อาจไม่ต้องใส่ผ้าก๊อสรองก็ได้
7. อุปกรณ์ที่ใช้แล้ว ได้แก่ ปากคีบ ให้ล้างและต้มฆ่าเชื้อทันทีในน้ำเดือดนาน 30 นาที ส่วนของสกปรกอื่นๆ ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง