ความจริง... 5X5 อีโบลา ตระหนัก แต่ไม่ตกใจ
ความจริง... 5X5 อีโบลา
ตระหนัก แต่ไม่ตกใจ
รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน
ภาควิชาจุลชีววิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
1. อีโบลาคืออะไร
1. เป็นไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกรุนแรงในคนและลิง มีแหล่งอาศัยหลักที่ป่าดิบชื้นในทวีปแอฟริกา
2. ระบาดมาแล้วหลายครั้ง ขณะนี้มีการระบาดใหญ่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
3. เชื่อว่าค้างคาวเป็นแหล่งเชื้อ (โดยไม่เป็นโรค) อาจมีสัตว์ชนิดอื่นอีก ยังไม่รู้ว่ามีพาหะนำโรคหรือไม่
4. เชื้อมีความสามารถก่อโรคสูง คนได้รับเชื้อเพียง 1 ตัว ก็เป็นโรคได้
5. เชื้อทำลายระบบภูมิคุ้มกันและระบบเลือดเป็นหลัก ต่อมาการทำงานอวัยวะต่างๆ จะล้มเหลว
2. ติดเชื้อจากที่ไหน
1. ติดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง สารน้ำของคนและสัตว์ที่เป็นโรค
2. ติดต่อได้ง่ายจากคนสู่คน หากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิต
3. เชื้อเข้าทางผิวหนังหรือเยื่อเมือกที่มีแผลหรือรอยถลอก รวมถึงโดนวัตถุมีคมที่มีเชื้อตำ
4. ไม่ติดต่อทางการหายใจ แต่ถ้าได้รับสารน้ำ/ละอองอากาศที่มีเชื้อเข้าทางเดินหายใจ ก็เป็นโรคได้
5. หากได้รับเชื้อ อัตราการเป็นโรคสูงมาก และมีอัตราตายมากกว่า 50%
3.จะรู้ว่าติดเชื้อเมื่อไร
1. อาการในระยะแรกจะแยกได้ยากจากโรคที่มีไข้สูงอื่นๆ เช่น มาลาเรีย ไทฟอยด์
2. หลังได้รับเชื้อเฉลี่ย 1-2 สัปดาห์จะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดตามตัว อ่อนแรง คล้ายไข้หวัด
3. ต่อมาจะมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ และผิวหนัง ระบบต่างๆ ล้มเหลว เสียชีวิตได้ใน 1-2 สัปดาห์
4. การยืนยันการวินิจฉัยโรคต้องอาศัยการตรวจในห้องแล็บ โดยตรวจหาเชื้อ หรือภูมิต้านทานต่อเชื้อ
5. การตรวจต้องทำในห้องแลปที่มีมาตรการความปลอดภัยสูงสุด (ระดับ 4) ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย
4.รู้จักเชื้อนี้ไปทำไม
1. ควรติดตามสถานการณ์อย่างมีสติ ไม่ต้องหวาดกลัว
2. ยังไม่เคยพบในประเทศไทย โอกาสที่จะพบโรคมีได้ แต่น้อย
3. ยังไม่มียารักษาจำเพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกัน ต้องรักษาประคับประคองตามอาการ
4. ผู้ที่มีความเสี่ยงคือคนที่ใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ญาติ และคนทำศพ
5. ถ้ามีไข้สูงและสงสัยติดเชื้อ ต้องแจ้งแพทย์ว่ามีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือเดินทางไปถิ่นระบาดหรือไม่
5. เราจะป้องกันอย่างไร
1. ยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทางไปในถิ่นระบาด แต่ควรหลีกเลี่ยง
2. เมื่อยังไม่มีผู้ป่วย ใช้หลักการรักษาสุขอนามัย-รักษาความสะอาดทั่วไป
3. ถ้ามีผู้ป่วย/ผู้ที่อาจติดเชื้อ แพทย์จะแยกตัวผู้ป่วยทันทีและควบคุมการสัมผัสขั้นสูงสุด
4. ผู้ป่วยที่หายจากโรค จะมีเชื้อในเลือด น้ำเหลือง สารน้ำ ที่ยังแพร่ให้คนอื่นได้อีก 1-2 เดือน
5. เครื่องใช้ วัสดุ ที่สัมผัสกับผู้ป่วย ต้องทำลายหรือล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันทีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ด้วยความร้อน 60 ° C นาน 30 นาที, ต้มเดือด 5 นาที, อบด้วยรังสีแกมม่า/ยูวี หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป (เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์)
รวบรวมจากแหล่งข้อมูลอ้างอิงของ WHO