เครื่องมือยึดลิ้น แก้นอนกรน Tongue stabilizing Device (TSD)

เครื่องมือยึดลิ้น  แก้นอนกรน

Tongue stabilizing Device (TSD)

 

รศ.นพ. วิชญ์ บรรณหิรัญ
คลินิกนอนกรน
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

               เครื่องมือยึดลิ้นแก้นอนกรน (Tongue stabilizing Device) จัดเป็นเครื่องมือในช่องปาก (oral appliance) ที่ดีอย่างหนึ่งซึ่งสามารถใช้โดยง่ายด้วยการให้ผู้ป่วยสวมเครื่องมือในปากขณะนอนหลับ เพื่อใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา ผู้ที่นอนกรน หรือผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น  หลักการของการรักษาวิธี TSD นี้ คือ เครื่องมือจะทำการยึดลิ้น.ให้ยี่นออกมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจบริเวณหลังโคนลิ้นเปิดกว้างขึ้น  วิธีนี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมี อาการนอนกรนลดลงและนอนหลับได้ดีมากขึ้น มีข้อบ่งชี้สำหรับรักษาในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายขณะหลับระดับไม่รุนแรงมาก และไม่มีความผิดปกติทางร่ายกายหรือบริเวณทางเดินหายใจส่วนอื่น ๆ ที่สามารถแก้ไขได้ เครื่องมือ TSD มีข้อดีที่เหนือกว่าการใช้เครื่องอัดอากาศความดันบวกต่อเนื่อง (CPAP) คือ สะดวกสบายมากกว่าในการใช้และง่ายกว่าในการพกพาขณะเดินทาง แม้การลดดัชนีหยุดหายใจขณะหลับจะได้น้อยกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อดีกว่าเครื่องช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Mandibular Repositioning Appliances) เพราะไม่ส่งให้เกิดผลเสียต่อข้อขากรรไกร หรือการสบฟันผิดปกติในภายหลัง และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า โดยที่ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกันมากนัก เครื่องมือชนิดนี้จึงมีความเหมาะสมในผู้ป่วยหลายรายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีปัญหาโรคฟัน เช่น ฟันโยกไม่แข็งแรง หรือ ไม่มีฟัน, ผู้ที่มีโรคเหงือก, และ ผู้ที่มีปัญหาโรคของข้อต่อขากรรไกร หรือ ปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร อีกทั้งยังสามารถใช้เครื่องมือยึดลิ้นนี้ร่วมกับการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาร่วมกันให้สูงขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามท่านต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนกรนและรับการตรวจสุขภาพการนอนหลับ (sleep test) ก่อน แล้วจึงได้ข้อมูลที่จะพิจารณาได้ว่าท่านปลอดภัยเพียงพอ และเหมาะสม สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา 
               ผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาลิ้นแข็งหรือแลบลิ้นได้น้อยกว่าปกติ เช่น มีพังผืดใต้ลิ้น อาจมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือนี้ นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงในระยะสั้นที่อาจพบได้ เช่น ในช่วงแรกมีอาการระคายเคืองเจ็บลิ้น หรือเหงือกเล็กน้อยบริเวณที่ใส่เครื่องมือ ช่วงที่ใส่เครื่องมืออยู่ในปากอาจกลืนไม่สะดวกและมีน้ำลายออกมากกว่าปกติ รวมถึงมีอาการปากแห้ง หรือ คอแห้ง เนื่องจากหุบปากไม่สนิท นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนน้อยบางราย อาจมีแผลที่เหงือกและลิ้น หรือ เครื่องมือหลุดออกขณะกำลังนอนหลับ  อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงดังกล่าวสามารถหายได้ภายหลังจากหยุดใช้เครื่องมือชั่วคราว และมักจะดีขึ้นหลังจากปรับตัวเข้ากับเครื่องมือได้หลังจากเริ่มใช้ไป 1 – 2 สัปดาห์ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยที่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงในระยะยาวแต่อย่างใด 

 

การดูแลเครื่องมือและติดตามการรักษา
         
แม้ว่าการใช้เครื่องมือยึดลิ้น เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในระดับที่ไม่รุนแรงมาก แต่ผลการรักษาอาจมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ดังนั้นท่านต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนอนกรนก่อน เพื่อพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับการรักษาด้วยเครื่องมือชนิดนี้หรือไม่  และถ้าท่านรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ท่านควรทำความสะอาดเครื่องมือเป็นประจำทุกวันโดยอาจใช้น้ำสบู่ หรือลวกน้ำร้อน แต่ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการชำรุดของเครื่องมือ และควรใช้เครื่องมืออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตลอดจนติดตามการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ท่านใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้อง ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด