โบท็อกซ์ (BOTOX) ช่วยอาการภูมิแพ้ได้จริงหรือ (ตอนที่ 2)
โบท็อกซ์ (BOTOX) ช่วยอาการภูมิแพ้ได้จริงหรือ (ตอนที่ 2)
รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Wen และคณะในปี ค.ศ. 2007 ศึกษาประสิทธิภาพของการใส่ BTX-A เข้าไปในโพรงจมูกของหนูที่ทำให้เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ว่าสามารถลดอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือไม่ โดยนำหนูมากระตุ้นให้เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ แล้วหยอดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในจมูกของหนูทุก 2 วัน เป็นระยะเวลา 10 วัน แล้วแบ่งหนูที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ใช้สำลีชุบ BTX-A 10 ยูนิต แล้วนำไปใส่ไว้ในโพรงจมูกหนูแต่ละข้าง เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง (รวม 20 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ไม่ได้รับการรักษาด้วย BTX-A
พบว่า กลุ่มที่ 1 ซึ่งได้รับการรักษาด้วย BTX-A มีอาการน้ำมูกไหล, คัน, จามลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม การหยอดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในจมูกของหนูกลุ่มที่ได้รับ BTX-A ไม่ทำให้เกิดอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เมื่อทำการตรวจเยื่อบุจมูกหนูในกลุ่มที่ 1 ทางพยาธิวิทยา พบว่า มีการเหี่ยวฝ่อของต่อมสร้างน้ำมูก และไม่มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก ที่เป็นลักษณะจำเพาะในโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ให้เห็น
Sapci และคณะในปี ค.ศ. 2008 เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีด BTX-A และการให้ยาลดน้ำมูกชนิดพ่นเข้าไปในโพรงจมูก [ipratropium bromide (IB) nasal spray] ในการรักษาอาการน้ำมูกไหลของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ โดยนำผู้ป่วยมาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีด BTX-A เข้าไปในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง (5 ยูนิตในโพรงจมูกแต่ละข้าง รวม 10 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 ได้รับยาลดน้ำมูกชนิดพ่นเข้าไปในโพรงจมูก วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
กลุ่มที่ 3 ได้น้ำเกลือ
ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ได้รับการประเมินอาการน้ำมูกไหล ก่อนการรักษา และที่ 1, 2 , 4, 8 และ 12 สัปดาห์ หลังการรักษา พบว่ากลุ่มที่ได้รับ BTX-A มีน้ำมูกไหลลดลงร้อยละ 41.2 ในสัปดาห์ที่ 2 หลังฉีด (น้ำมูกไหลที่ลดลง เริ่มเห็นชัดหลังฉีด BTX-Aไปแล้ว 1 สัปดาห์) ส่วนกลุ่มที่ได้รับ IB มีน้ำมูกไหลลดลงร้อยละ 61.4 ขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอาการน้ำมูกไหล โดยผลดังกล่าวยังคงอยู่หลังให้การรักษาไปแล้ว 8 สัปดาห์ การรักษาด้วย BTX-A จึงได้ผลในการรักษาใกล้เคียงกับ IB ในการลดอาการน้ำมูกไหลในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
Yang และคณะในปี ค.ศ. 2008 เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีด BTX-A และการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในเยื่อบุจมูก ในการบรรเทาอาการทางจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (ผู้ป่วยไม่ทราบว่าได้รับการฉีดอะไรเข้าไปในโพรงจมูก) โดยแบ่งผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีด BTX-A จำนวน 25 ยูนิต เข้าไปในโพรงจมูกแต่ละข้าง (รวม 50 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดสเตียรอยด์ (triamcinolone) จำนวน 20 มิลิกรัมเข้าไปในโพรงจมูกแต่ละข้าง (รวม 40 มิลิกรัมสำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 3 ได้รับการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก แต่ละข้าง
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับการฉีด BTX-A และสเตียรอยด์ มีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการฉีดน้ำเกลือ และ BTX-A สามารถลดอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหลได้ดีกว่าสเตียรอยด์ และผลของ BTX-A ยังคงอยู่ หลังฉีดไปแล้วนานถึง 8 สัปดาห์
Rohrbach และคณะในปี ค.ศ. 2009 ได้ศึกษาประสิทธิภาพของการนำสำลีชุบ BTX-A วางในจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ ในการลดอาการต่างๆทางจมูกของผู้ป่วย โดยนำผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ได้รับสำลีชุบ BTX-A 40 ยูนิต วางภายในโพรงจมูกแต่ละข้างนาน 30 นาที (รวม 80 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 ได้รับสำลีชุบน้ำเกลือ วางภายในโพรงจมูกแต่ละข้างนาน 30 นาที
พบว่า กลุ่มที่ได้รับ BTX-A มีอาการน้ำมูกไหล และจาม ลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้น้ำเกลืออย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่สามารถลดอาการคัดจมูกได้ และผลดังกล่าวอยู่ได้นานถึง 12 สัปดาห์หลังได้รับ BTX-A
Hashemi และคณะในปี ค.ศ. 2013 ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีด BTX-A เข้าไปในเยื่อบุจมูก กับยาแก้แพ้ cetirizine ในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยนำผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีดเยื่อบุจมูกด้วย BTX-A (Dysport®) จำนวน 75 ยูนิต ในโพรงจมูกแต่ละข้าง (รวม 150 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 ได้รับยา cetirizine ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน
พบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีอาการทางจมูกและคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าก่อนให้การรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอาการทางจมูกระหว่าง 2 กลุ่ม ตลอดระยะเวลา 2 เดือนหลังการรักษา ผลข้างเคียงของการฉีด BTX-A ที่พบ ได้แก่ จมูกแห้ง (ร้อยละ 4), เลือดกำเดาไหล (ร้อยละ 4) การฉีด BTX-A มีข้อได้เปรียบ คือ ให้การรักษาเพียงครั้งเดียว แล้วอยู่ได้นาน ทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการรักษามากกว่าการกินยาแก้แพ้ ซึ่งต้องกินทุกวัน
Abtahi และคณะในปี ค.ศ. 2013 เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการฉีด BTX-A เข้าที่เยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูก และผนังกั้นช่องจมูกในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยนำผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีด BTX-A (Dysport®) จำนวน 40 ยูนิต เข้าที่เยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูกแต่ละข้าง (รวม 80 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีด BTX-A ขนาดเดียวกับกลุ่มที่ 1 เข้าที่เยื่อบุผนังกั้นช่องจมูกทั้ง 2 ข้าง (รวม 80 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
พบว่า BTX-A ไม่ว่าจะฉีดเข้าที่เยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูกหรือผนังกั้นช่องจมูก สามารถลดอาการจาม, น้ำมูกไหล, คัดจมูก ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลต่ออาการคันจมูก รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย หลังฉีดนานถึง 8 สัปดาห์ โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 2 กลุ่ม แต่กลุ่มที่ฉีด BTX-A เข้าที่เยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูกจำนวน 4 ราย มีผลข้างเคียง คือ 3 ราย มีเลือดกำเดาไหล 1 ราย มีเยื่อบุจมูกแห้ง ขณะที่กลุ่มที่ฉีด BTX-A เข้าที่ผนังกั้นช่องจมูก มี 1 ราย ที่มีเลือดกำเดาไหล การฉีด BTX-A เข้าที่ผนังกั้นช่องจมูก เป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยกว่า เนื่องจากผนังกั้นช่องจมูกมีเลือดมาเลี้ยงในปริมาณที่น้อยกว่าเยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูก ทำให้ BTX-A มีโอกาสถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อยกว่า และทำให้ผลของการรักษาอยู่ได้นานกว่า (เนื่องจากการที่เยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูกมีเลือดมาเลี้ยงมาก อาจส่งผลให้มีการดูดซึมและกำจัด BTX-A ได้เร็วกว่า)
ในประเทศไทยมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของ BTX-A ในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการตลอดปี โดยสุคนธา อินทรวงศ์ และคณะโดยนำผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ได้รับ BTX-A โดยการฉีดเข้าเยื่อบุจมูก 10 ยูนิต ในโพรงจมูกแต่ละข้าง (รวม 20 ยูนิต สำหรับจมูก 2 ข้าง)
กลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดน้ำเกลือเข้าเยื่อบุจมูก
พบว่ากลุ่มที่ได้ BTX-A มีอาการคัดจมูก, น้ำมูกไหลน้อยกว่ากลุ่มที่ได้น้ำเกลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีอาการดีขึ้นหลังฉีด 1 สัปดาห์ แต่ BTX-A ไม่มีผลในการลดอาการจาม และคันจมูก ผลของการรักษาด้วย BTX-A สามารถอยู่ได้นานถึง 7 สัปดาห์หลังฉีด
จากหลักฐานข้างต้นทั้งหมด จะเห็นว่า การฉีด BTX-A เข้าไปในเยื่อบุจมูก ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุจมูกทางด้านข้างของโพรงจมูก หรือผนังกั้นช่องจมูก หรือใช้ BTX-A ใส่เข้าไปในสำลี หรือวัสดุอื่นๆ แล้วนำไปวางบนเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่มีประสิทธิภาพสูง, ปลอดภัย และง่ายในการบรรเทาอาการทางจมูก ของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และการใช้ยา หรือทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้ โดยจะเริ่มเห็นผลหลังฉีด 1-2 สัปดาห์ และมีผลนานถึง 8-12 สัปดาห์หลังฉีด แต่ผลดังกล่าว อยู่ได้ชั่วคราวและอาจต้องทำซ้ำ
อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในแง่ของค่าใช้จ่ายด้วย เนื่องจาก BTX-A มีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสทามีน, ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ ในปัจจุบัน