ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาได้
ศิริราชผลิตแอนติบอดี
รักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาได้
ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา
ศ.ดร.พญ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์
ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SiMR)
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคไข้เลือดออกอีโบลายังคุกคามผู้คนอยู่ตลอด เมื่อไม่นานมานี้ศิริราชแถลง แอนติบอดีสายเดี่ยวรักษาอีโบลาได้
แอนติบอดีคือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ ซึ่งจะผลิตจากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลิมโฟซัยท์บี ซึ่งแอนติบอดีจะถูกสร้างขึ้นประมาณ 7-10 วัน หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป แต่หากเชื้อหรือพิษบางอย่างที่ร่างกายได้รับก่ออาการรุนแรงและเร็วมาก ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีออกมาได้ไม่ทัน ก็มักจะเสียชีวิตเสียก่อน เช่น การติดเชื้อไวรัสอีโบลา กรณีนี้เราสามารถให้แอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้ออีโบลาแก่ผู้ป่วยทันที เรียกว่า ให้ภูมิคุ้มกันพร้อมใช้ หรือแอนติบอดีรักษา (Therapeutic antibody) เข้าไปสู้กับเชื้อโรคหรือสารพิษโดยตรง
แอนติบอดีจำเพาะต่อไวรัสอีโบลาที่ทีมวิจัยศิริราชผลิตขึ้นนั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่มีขนาดเล็กกว่าแอนติ บอดีปกติ 5 เท่า ~25-35 kDa เรียกว่า แอนติบอดีสายเดี่ยว (human single chain antibodies) ผลิตจากยีนของคน จึงไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมเมื่อเข้าสู่ร่างกายคน ซึ่งต่างจากแอนติบอดีอื่นๆ ที่ผลิตจากหนูทดลอง หรือสัตว์ใหญ่ เช่น ม้า เป็นต้น และผู้ที่ได้รับแอนติบอดีจะมีภูมิต้านทานทันทีโดยไม่ต้องรอ 7-10 วัน เหมือนการฉีดวัคซีนทั่วไป
โดยที่แอนติบอดีนี้มีความจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลา ชนิด จีพีหนึ่ง-จีพีสอง นิวคลีโอโปรตีน (NP) ไวรัสโปรตีน-๔๐ (VP40) ไวรัสโปรตีน-๓๕ (VP35) ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของโปรตีนสำคัญของไวรัสอีโบลา ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายของผู้ติดเชื้อและก่ออาการรุนแรงได้ เช่น ถ้ายับยั้งจีพีหนึ่ง ไวรัสก็จะเข้าเซลล์ไม่ได้ ยับยั้งจีพีสอง ไวรัสก็ไม่สามารถออกจากกระเปาะที่หุ้มเพื่อออกไปเพิ่มจำนวนในไซโทพลาซึมได้ ยับยั้งไวรัสโปรตีน-๓๕ จะทำให้ไวรัสกดภูมิคุ้มกันของโฮสท์ไม่ได้และเพิ่มจำนวนไม่ได้ และถ้ายับยั้งไวรัสโปรตีน-๔๐ ก็จะทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้ว ประกอบร่างเป็นไวรัสรุ่นลูกตัวใหม่ไม่ได้และออกจากเซลล์เพื่อแพร่ไปยังเซลล์อื่นต่อไปไม่ได้
หลักการใช้แอนติบอดียับยั้งไวรัสอีโบลา โดยผลิตโปรตีนของไวรัสฯ จากยีนสังเคราะห์ ซึ่งใช้ลำดับเบสอ้างอิงของยีนของเชื้อไวรัสอีโบลาที่ระบาดอยู่ขณะนี้เป็นต้นแบบจากธนาคารพันธุกรรม จากนั้นนำโปรตีนสังเคราะห์แต่ละชนิดนั้นไปตรึงบนพื้นผิวพลาสติก คัดเลือกด้วยไวรัสของแบคทีเรีย (ฟาจ) จากคลัง (Library) ที่มีอยู่ โดยนำยีนของคนที่ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีไปใส่ไว้ในยีนของฟาจ ดังนั้นฟาจแต่ละอนุภาคจะมีแอนติบอดีของคนหนึ่งชนิดปรากฏอยู่บนผิว เหมือนลิมโฟซัยท์บีหนึ่งเซลล์ เมื่อเติมคลังฟาจลงบนโปรตีนของไวรัสอีโบลาที่ตรึงไว้ ฟาจที่มีแอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนนั้นๆ ก็จะจับกับโปรตีน จากนั้นนำฟาจที่จับกับโปรตีนของไวรัสอีโบลาไปใส่ในแบคทีเรียชนิดพิเศษ แล้วนำแบคทีเรียไปเพาะเลี้ยงพร้อมเหนี่ยวนำให้ผลิตแอนติบอดีจากยีนที่ฝากไว้ในฟาจ แล้วทำการแยกแอนติบอดีออกมาจากแบคทีเรีย โดยไม่ให้มีโปรตีนของแบคทีเรียปนเปื้อน ก็จะได้แอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลาที่เป็นแอนติบอดีของมนุษย์
อย่างไรก็ดี แอนติบอดีต้นแบบเหล่านี้ ศิริราชยังผลิตได้น้อยในห้องปฏิบัติการวิจัย คาดว่าในกรณีจำเป็นและผลิตเพื่อใช้รักษา จะขอความร่วมมือจากสยามไบโอไซเอ็นซ์ ให้ผลิตในปริมาณมากขึ้นด้วยมาตรฐาน GMP เพื่อการทดลองในสัตว์และจดทะเบียนเป็นยาใหม่ต่อไป
ทั้งนี้ ต้นแบบแอนติบอดีเหล่านี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งสิทธิทั้งหมดเป็นของ คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล