ไซนัส.......สำคัญไฉน
ไซนัส.......สำคัญไฉน
รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โพรงอากาศข้างจมูก หรือไซนัส คือโพรงในกระดูกที่อยู่รอบจมูก ซึ่งมีอากาศบรรจุอยู่ โดยปกติมี 4 คู่ โดยแต่ละคู่จะอยู่คนละข้างของจมูก ได้แก่ ไซนัสหน้าผาก (frontal), ไซนัสข้างหัวตา (ethmoid), ไซนัสโหนกแก้ม (maxillary) และ ไซนัสฐานสมอง (sphenoid) ซึ่งขนาดและตำแหน่งของไซนัสนั้น อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ภายในโพรงไซนัส บุด้วยเยื่อบุชนิดเดียวกับที่บุในโพรงจมูก แต่มี เซลล์ที่ผลิตเมือก หรือน้ำมูก, เส้นเลือด และเส้นประสาทค่อนข้างน้อย
1. ไซนัสหน้าผาก (Frontal sinus) เป็นไซนัสที่อยู่บริเวณหน้าผาก โดยเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุ 4 เดือน สามารถมองเห็นในภาพเอ็กซเรย์ เมื่ออายุ 6 ปี มีขนาดโตเต็มที่เมื่ออายุ 14-15 ปี ไซนัสนี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หรืออาจพบว่าเจริญเพียงข้างเดียว ขนาดแตกต่างกันได้มาก มีผนังกั้นกลางระหว่างข้างซ้ายและขวา แต่มักจะอยู่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ลักษณะที่แตกต่างกันทั้งขนาดและรูปร่างของไซนัสหน้าผากนี้ สามารถใช้บอกตัวบุคคลได้เหมือนรอยนิ้วมือ ไซนัสนี้มีรูเปิดสู่โพรงจมูก ด้านหน้าบริเวณเดียวกับไซนัสข้างหัวตาส่วนหน้า และไซนัสโหนกแก้ม เนื่องจากด้านหลังของไซนัสนี้คือ สมองส่วนหน้า การติดเชื้อในไซนัสนี้ อาจลามเข้าไปในสมองได้
2. ไซนัสข้างหัวตา (Ethmoid sinus) เป็นไซนัสที่เกิดจากโพรงอากาศเล็กๆ หลายอันรวมตัวกันอยู่ สองข้างของจมูก โดยเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุ 4 เดือน สามารถมองเห็นได้ในภาพเอ็กซเรย์ตั้งแต่แรกเกิด มีขนาดโตเต็มที่ เมื่ออายุ 12-14 ปี เป็นไซนัสที่ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเกิดไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ลูกตา และสมอง การติดเชื้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ของไซนัสนี้ อาจลามเข้าไปในลูกตา และสมองได้ง่าย ไซนัสข้างหัวตานี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ไซนัสข้างหัวตาส่วนหน้า (Anterior ethmoidal cells) ช่องอากาศจะมีขนาดเล็ก และจำนวนมากกว่าไซนัสข้างหัวตาส่วนหลัง กลุ่มนี้มีรูเปิดเข้าสู่โพรงจมูกด้านหน้าบริเวณเดียวกับไซนัสหน้าผาก และไซนัสโหนกแก้ม
- ไซนัสข้างหัวตาส่วนหลัง (Posterior ethmoidal cells) ช่องอากาศจะมีขนาดใหญ่กว่า และมีจำนวนน้อยกว่าไซนัสข้างหัวตาส่วนหน้า กลุ่มนี้มีรูเปิดเข้าสู่โพรงจมูกด้านหลังบริเวณเดียวกับไซนัสฐานสมอง
3. ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) เป็นไซนัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีรูปร่างคล้ายปิรามิดอยู่ในกระดูกโหนกแก้ม เริ่มมีการเจริญเมื่ออายุได้ 3 เดือน สามารถมองเห็นในภาพเอ็กซเรย์ได้ตั้งแต่แรกเกิด เหมือนไซนัสข้างหัวตา และจะโตขึ้นไปจนถึงบริเวณใต้ตาเมื่ออายุ 1-2 ปี และมีขนาดโตเต็มที่เมื่ออายุ 15 ปี พื้นล่างของโพรงอากาศนี้จะเจริญลงมาอยู่ในระดับเดียวกับพื้นของโพรงจมูก เมื่อเด็กอายุประมาณ 12 ปี ไซนัสนี้มีรูเปิดสู่โพรงจมูกด้านหน้าบริเวณเดียวกับไซนัสข้างหัวตาส่วนหน้า และไซนัสหน้าผาก
ไซนัสนี้มีความสัมพันธ์ทางกายวิภาคกับฟันบน ซึ่งอยู่บริเวณ พื้นของไซนัสนี้ โดยเฉพาะฟันกรามน้อยบนซี่ที่ 2 (second premolar) และ ฟันกรามบนซี่ที่ 1 และ 2 (first and second molar) เนื่องจากมีเพียงกระดูกแผ่นบางๆ กั้นระหว่างฟันซี่เหล่านี้กับไซนัสโหนกแก้มเท่านั้น ในรายที่มีพยาธิสภาพที่ฟันเช่น รากฟันอักเสบ หรือเกิดโรคของฟัน อาจลามเข้าไปในไซนัสโหนกแก้มนี้ได้ง่าย
4. ไซนัสฐานสมอง (Sphenoid sinus) อยู่ในกระดูกที่บริเวณฐานสมอง โดยมักมีขนาดแตกต่างกันไป เริ่มมีการเจริญเมื่ออายุได้ 4 เดือน สามารถมองเห็นในภาพเอ็กซเรย์เมื่ออายุ 4 ปี จะมีขนาดโตเต็มที่เมื่ออายุ 12-14 ปี มีรูเปิดสู่โพรงจมูกด้านหลังบริเวณเดียวกับไซนัสข้างหัวตาส่วนหลัง ไซนัสนี้ มีความสำคัญในแง่ที่มีอวัยวะที่สำคัญหลายชนิด อยู่ใกล้เคียง
ด้านบน: มีต่อมใต้สมอง (pituitary gland), เส้นประสาทตา
ด้านข้าง: มีเส้นเลือดแดงใหญ่ (internal carotid artery), เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4, 6, 5 แขนงที่ 1 และ 2
ด้านหลัง: คือก้านสมอง (brain stem)
ในรายที่เป็นเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออก ผ่านทาง ไซนัสฐานสมองนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ภาวะแทรกซ้อนน้อย และผู้ป่วยฟื้นจากการผ่าตัดได้เร็วกว่า การผ่าตัดเปิดสมอง นอกจากนั้น การอักเสบติดเชื้อ หรือพยาธิสภาพอื่นๆ ใน ไซนัสนี้ อาจลุกลามเข้าสมองได้ง่าย
หน้าที่ทางสรีรวิทยาของไซนัส มีดังต่อไปนี้
1. ช่วยทำให้เสียงที่เราเปล่งออกมา กังวานขึ้น (resonance)
2.ช่วยในการรับกลิ่น
3. ช่วยในการปรับสภาพของอากาศที่หายใจเข้า ให้อุ่นและชื้นขึ้น เนื่องจากในไซนัสมีเยื่อบุผิว เช่นเดียวกับในโพรงจมูก และมีรูติดต่อกับโพรงจมูก
4. ช่วยทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของศีรษะ
5. ช่วยลดความรุนแรง ขณะเกิดการกระทบกระแทก โดยเป็นเสมือนฉนวน (shock absorber) ลดความแรงที่จะไปถึงอวัยวะสำคัญในกะโหลกศีรษะ เช่น สมอง และเส้นประสาทสำคัญต่างๆ
6. ช่วยในการพยุงตัวของทางเดินหายใจส่วนบน เมื่ออยู่ในน้ำ
7. ช่วยเป็นฉนวน (insulation) ป้องกันไม่ให้กะโหลกศีรษะ หรือลูกตาต้องกระทบกับความร้อนหรือเย็นเกินไป ของอากาศภายนอก
8. ช่วยในการปรับความดัน ของอากาศภายในโพรงจมูก ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันเช่น ในระหว่างการหายใจเข้าหรือออก, การจาม, การเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศรอบข้าง จากการขึ้น และลงจากที่สูง
9. อาจเป็นเพียงส่วนที่เหลือค้างจากวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลยก็เป็นได้
ในไซนัสเอง มีกลไกการป้องกันตนเอง (defense mechanisms) จากโรคหรือการอักเสบต่าง ๆ โดย
1. การทำงานของขนกวัด โดยมีลักษณะการทำงานคล้ายขนกวัดในโพรงจมูก โดยสารต่างๆจะถูกขับออกทางรูเปิดของไซนัส โดยการทำงานของขนกวัด (cilia) การพัดโบกของขนกวัด ไปสู่รูเปิดของไซนัส มีเส้นทางที่แน่นอน และไม่เปลี่ยนแปลง แม้หลังจากการผ่าตัด
2. การที่รูของไซนัส ที่เปิดเข้ามาในโพรงจมูกนั้นโล่ง ไม่อุดตัน โดยจะมีการขับสิ่งสกปรก ของเสียทั้งหลาย ออกจากไซนัสผ่านทางรูเปิดที่ระบายสู่โพรงจมูก
3. การที่ไซนัสหลั่งสารบางชนิดออกมา เยื่อบุไซนัส ก็มีการสร้างสารคัดหลั่งที่มีแอนติบอดี ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้พบว่าเยื่อบุไซนัส ยังสามารถสร้างก๊าซไนตริกออกไซด์ได้ด้วย จากการศึกษาพบว่าปริมาณก๊าซไนตริกออกไซด์ในโพรงไซนัสที่ปกตินั้น มีค่าสูงกว่าระดับของก๊าซไนตริกออกไซด์ในจมูกหรือในภาวะแวดล้อมทั่วไป ก๊าซไนตริกออกไซด์นี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และมีฤทธิ์ต้านไวรัสด้วย ก๊าซไนตริกออกไซด์ และแอนติบอดี จากสารคัดหลั่ง จะช่วยทำให้โพรงไซนัสมีลักษณะที่ปลอดจากเชื้อ
ดังนั้น เมื่อเราเป็นไซนัสอักเสบ แสดงว่ากลไกใด กลไกหนี่ง หรือหลายๆกลไกดังกล่าวข้างต้นเสียไป
เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ไซนัสนั้น......สำคัญ