จมูกนั้น....สำคัญไฉน (ตอนที่ 2 )

จมูกนั้น....สำคัญไฉน (ตอนที่ 2 )

 

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน

            สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้

                ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา   
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

จมูกมีหน้าที่ที่สำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
1. หน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ

          จมูกทำหน้าที่เป็นทางผ่านหลักของอากาศที่หายใจเข้าไปสู่ปอด ในเด็กเล็กๆนั้น ใช้จมูกหายใจเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งอายุ 5-6 เดือน ในผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 85 ก็หายใจผ่านทางจมูกเป็นหลัก โดยจะเปลี่ยนจากการหายใจทางจมูก เป็นหายใจทางปาก เมื่อเวลาต้องการอากาศมากขึ้นเช่น ขณะออกกำลังกาย, ขณะใช้เสียง หรือในกรณีที่มีการอุดกั้นของจมูก ในจมูกมีอยู่ 2 แห่ง ที่จะมีผลต่อความต้านทานของอากาศที่ผ่านจมูก คือบริเวณของวาล์วของจมูก และบริเวณที่มีเยื่อบุจมูกที่บวมได้ (erectile tissue) จากการควบคุมของเส้นเลือดที่อยู่ข้างใต้ การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดที่อยู่ภายใต้เยื่อบุจมูกนั้น จะอยู่ภายใต้การควบคุมของเส้นประสาทที่เลี้ยง เส้นเลือด โดยมีศูนย์ควบคุมอยู่ในก้านสมอง ซึ่งจะทำงานสลับกันทีละข้าง โดยจมูกข้างหนึ่งจะโล่ง ขณะที่อีกข้างจะคัด การที่หลอดเลือดใต้เยื่อบุจมูกมีการทำงานสลับข้างกันเช่นนี้เรียกว่า “รอบการทำงานของจมูก” (nasal or turbinate cycle) โดยในแต่ละรอบมีช่วงเวลาประมาณ 1-4 ชั่วโมง ทำให้ค่าเฉลี่ยของความต้านทานรวมในจมูกทั้ง 2 ข้างมีค่าคงที่ตลอดเวลา ทำให้เราไม่รู้สึกถึงการทำงานที่สลับข้างกันนี้ เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงความต้านทานของอากาศด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น เป็นหวัด, การออกกำลังกาย หรือการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจทำให้รับรู้ถึงการทำงานที่สลับกันนี้ได้

         ขณะที่คนเราหายใจเอาอากาศเข้าไป อากาศจะผ่านไปตามช่องจมูกส่วนหน้า ในแนวตั้งด้วยความเร็ว 2-3 เมตร ต่อวินาที หลังจากนั้นอากาศที่หายใจเข้าไปจะสอบเข้าหากันและเปลี่ยนทิศทางเป็นแนวนอนก่อนถึงวาล์วของจมูก และผ่านวาล์วของจมูก ด้วยความเร็ว 12-18 เมตร ต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงสุดของอากาศที่ผ่านจมูก เนื่องจากผ่านบริเวณที่แคบที่สุดของทางเดินหายใจ หลังจากผ่านวาล์วของจมูก ความเร็วของอากาศจะลดลงเหลือประมาณ 2-3 เมตร ต่อวินาที จนเมื่อถึงบริเวณโพรงหลังจมูก ความเร็วจะเริ่มเพิ่มเป็น 3-4 เมตร ต่อวินาที ทิศทางของอากาศจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากแนวนอนเป็นแนวตั้ง ลงไปยังคอหอย, กล่องเสียง และ หลอดลม ลักษณะของลมที่ผ่านเข้าไปในจมูกนั้น จะเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจาก การเคลื่อนตัวของอากาศแบบธรรมดา (laminar flow) ก่อนถึงวาล์วของจมูก ช่วงที่ผ่านวาล์วของจมูก จะกลายเป็นลักษณะของการเคลื่อนตัวของอากาศแบบหมุนวน (turbulent flow) มากขึ้น ปัจจัยที่มีส่วนในการทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศแบบหมุนวน คือ การเปลี่ยนแปลงทิศทางของลมหายใจ และลักษณะของผนังด้านข้างของโพรงจมูกที่ไม่เรียบ โดยเฉพาะหลังจากที่อากาศผ่านวาล์วของจมูก แล้วบริเวณที่อากาศสัมผัสกับเทอร์บิเนทก็จะเป็นการเคลื่อนตัวของอากาศแบบหมุนวนด้วย ซึ่งการเคลื่อนตัวของอากาศแบบนี้ มีประโยชน์ในการทำให้ลมหายใจสัมผัสกับเยื่อบุจมูกมากขึ้น ทำให้เยื่อบุจมูกทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น และช่วยทำความสะอาด อากาศที่หายใจเข้าไปได้มากขึ้น นอกจากทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอากาศหายใจแล้ว จมูกยังทำหน้าที่อื่นที่มีความสำคัญกับอากาศที่หายใจเข้าไปด้วยคือ

            1.1 การปรับอุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่หายใจเข้าไป

          ส่วนใหญ่อากาศที่หายใจเข้าไปนั้น จะถูกทำให้อุ่นและชื้นขึ้นในจมูก  โดยส่วนอื่นๆ ที่เหลือของทางเดินหายใจมีส่วนร่วมน้อยมาก  การปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น เกิดจากการทำงานของหลอดเลือดที่อยู่ใต้เยื่อบุจมูก โดยเมื่อหลอดเลือดเหล่านี้ขยายตัวจะมีเลือดมาเลี้ยงมาก และพาเอาความร้อนเท่ากับอุณหภูมิร่างกายมาด้วย   ทำให้อากาศที่หายใจผ่านช่องจมูกได้รับความร้อน  ทำให้อุ่นขึ้น  ซึ่งการทำอากาศให้อุ่นขึ้นนี้จำเป็นต้องอาศัยการเคลื่อนตัวของอากาศแบบหมุนวน เพื่อให้อากาศที่หายใจเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกให้มากที่สุด  อากาศที่อุ่นขึ้นนี้สำคัญต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยอุณหภูมิของอากาศที่พอเหมาะสำหรับการทำงานของเยื่อบุในทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ประมาณเท่ากับอุณหภูมิของร่างกายคือ 37°C   อากาศที่หายใจเข้าไปจะทำให้อุ่นขึ้นถึงประมาณ 31-34 °C ในโพรงหลังจมูก และประมาณ 35°C ในหลอดลม  มีรายงานว่าการที่ต้องสูดอากาศที่เย็นและแห้งเป็นเวลานาน จะมีผลทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่างได้  แสดงถึงความสำคัญของจมูกในการทำหน้าที่นี้ ซึ่งมีผลต่อทางเดินหายใจส่วนล่าง

         ส่วนการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับอากาศที่หายใจเข้าไปนั้น   หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้เยื่อบุจมูกซึ่งมีรูเล็กๆ ที่ผนังหลอดเลือด เป็นแหล่งให้ทั้งความชุ่มชื้นและความร้อนหลักในขบวนการปรับอากาศ   นอกจากนั้นก็ยังมีสารคัดหลั่งจากต่อมสร้างน้ำมูก และเซลล์ในเยื่อบุจมูก, น้ำตาจาก ท่อน้ำตา และสารคัดหลั่งจากไซนัส

         นอกจากนี้ร่างกายยังได้ ความร้อนและน้ำกลับคืนทางลมหายใจออกด้วย  เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศที่หายใจออก (37°C)  สูงกว่าอุณหภูมิของเยื่อบุจมูกส่วนหน้า (32°C) โดยจะทำให้เกิดการควบแน่นของน้ำกลับลงไปบนเยื่อบุจมูกอีก   ซึ่งประมาณร้อยละ 33 ของความร้อนและน้ำ จะถูกถ่ายทอดคืนสู่เยื่อบุจมูก ขณะหายใจออก

                1.2 ทำหน้าที่กรองอากาศ และป้องกันระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

        จมูกทำหน้าที่เป็นด่านแรก ในการป้องกันอันตรายให้แก่ระบบทางเดินหายใจ โดยกรองฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในอากาศที่หายใจเข้าไป   โดยฝุ่นผงที่มีขนาดใหญ่จะถูกกรองไว้ในช่องจมูกส่วนหน้า โดยขนจมูก  พวกที่มีขนาดเล็กก็จะผ่านเข้าไปในช่องจมูกได้   ในโพรงจมูกมีเยื่อเมือก (mucous blanket) ซึ่งคลุมอยู่บนเยื่อบุโพรงจมูก คอยดักจับสิ่งสกปรกในอากาศ และฝุ่นละอองต่างๆ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 4 ไมครอน  ด้านล่างมีปลายของขนกวัด   ส่วนก๊าซที่ละลายได้ในน้ำ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 4 ไมครอน  สามารถปนไปกับอากาศที่หายใจเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้  อย่างไรก็ตาม เมื่อก๊าซ และอนุภาคที่เล็กกว่า 4 ไมครอน เหล่านี้ในอากาศ ไปกระทบกับผนังด้านข้างของโพรงจมูก แล้วเกิดการเคลื่อนตัวของอากาศแบบหมุนวนขึ้น ก็สามารถละลายในเยื่อเมือกได้

        สิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติด หรือละลายอยู่บนเยื่อเมือก จะถูกกำจัดโดยการทำงานของขนกวัดที่อยู่ข้างใต้   ซึ่งจะโบกไปในทิศทางเดียวเท่านั้น   และโบกประมาณ 1,000 ครั้ง ต่อนาที   ทำให้เยื่อเมือกเคลื่อนที่ไปได้ด้วยอัตรา 3-25 ม.ม.ต่อนาที  โดยจะเคลื่อนที่ไปสู่ผนังของลำคอด้านหลัง และต่อไปยังคอหอย  และอาจถูกขับออกมาโดยการขับเสมหะ  หรือถูกกลืนลงไปในหลอดอาหาร   ส่วนบริเวณหน้าต่อเทอร์บิเนทอันล่าง นั้นเยื่อเมือกจะถูกพัดพาไปด้านหน้า  กลไกนี้จะทำให้สิ่งแปลกปลอม เคลื่อนที่จากด้านหน้าไปด้านหลังของจมูกภายในเวลา 10-20 นาที ประสิทธิภาพของการทำงานของระบบนี้ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพความเป็นกรด ด่าง, อุณหภูมิ , ความชื้น  ในรายที่ใช้เวลามากกว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของขนกวัด, มีการบาดเจ็บต่อระบบการเคลื่อนตัวของเยื่อเมือก โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส, การขาดน้ำ, โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของน้ำ และดุลกรด-ด่าง             
        นอกจาก การทำงานของเยื่อเมือก และขนกวัด ซึ่งเป็นด่านแรกในการป้องกันระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังมีสารที่หลั่งออกมา เพื่อช่วยปกป้องจากเชื้อโรคต่างๆ ด้วย เช่น 
                    - ไลโซไซม์ (Lysozyme) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย  หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด
                    - แลคโตเฟอริน (Lactoferrin) ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิด 

                    - อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ชนิด A มีหน้าที่ไปจับกับเชื้อก่อโรค และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคมายึดติดกับเยื่อบุจมูก แต่ เมื่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ได้ผ่านเข้ามาในเยื่อบุจมูกแล้ว  อิมมูโนโกลบูลิน ชนิด G จะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ช่วยทำลายเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมนั้น

         นอกจากนั้นการที่มีแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่ ก็จะช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อที่จะก่อโรคได้  และในเยื่อบุจมูกยังมีเซลล์ชนิดต่างๆ ที่ช่วยป้องกันการรุกล้ำของเชื้อก่อโรคอีกด้วย                  
 2. การรับกลิ่น

         อาศัยเยื่อบุที่ทำหน้าที่รับกลิ่น (olfactory mucosa) ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 200-400 ม.ม.2 ความสามารถในการรับกลิ่นของมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์ชั้นต่ำชนิดอื่น  แต่ก็มีความสำคัญในการดำรงชีวิต เช่น รับรู้ถึงกลิ่นของอาหารที่รับประทาน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในรสชาติของอาหาร   โดยสารที่ทำให้เกิดกลิ่นในอาหาร หรือเครื่องดื่ม ได้ลอยขึ้นมาผ่านโพรงหลังจมูกและไปยังเยื่อบุที่ทำหน้าที่รับกลิ่น ซึ่งอยู่ในส่วนบนของโพรงจมูก ขณะหายใจออก  นอกจากนั้น ยังช่วยเตือนภัยในการดำรงชีวิตเช่น สามารถรับรู้กลิ่นของอาหารที่เน่าบูด หรืออาหารที่อาจเป็นพิษ หรือ ก๊าซที่อาจเป็นพิษ เช่น แก๊สหุงต้ม  การรับกลิ่นมีความสำคัญในบางอาชีพด้วย เช่น  คนปรุงอาหาร, นักชิมไวน์, นักเคมี  นอกจากนี้สำหรับแพทย์แล้ว ก็มีความสำคัญในการช่วยวินิจฉัยโรคบางโรค เช่น กลิ่นที่เรียกว่า fetor hepaticus  มักพบในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับล้มเหลว

          กลไกที่โมเลกุลของสารมีกลิ่นต่างๆ  กระตุ้นการทำงานของเซลล์รับกลิ่น นั้น ไม่ทราบแน่นอน  แต่มีหลายสมมติฐาน   การที่จะกระตุ้นการทำงานของประสาทรับกลิ่นได้   สารนั้นต้องสามารถละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน มีความเชื่อว่า เพียงแค่ 2-3 โมเลกุลก็เพียงพอ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการรับกลิ่นได้  โดยสารนั้นต้องสามารถผ่านชั้น เมือกที่คลุมเซลล์รับกลิ่นเข้าไป  โดยใช้คุณสมบัติการละลายในน้ำ  แล้วต้องทำปฏิกิริยากับตัวรับของ เซลล์รับกลิ่นโดยใช้คุณสมบัติการละลายในไขมัน

         เนื่องจากบริเวณที่อยู่ของเซลล์รับกลิ่นนั้น เป็นบริเวณที่มีการไหลเวียนของอากาศไม่ดีนัก เนื่องจากอยู่สูงในโพรงจมูก  ขณะที่การไหลเวียนของอากาศหายใจเข้าและออกส่วนใหญ่  จะอยู่ส่วนล่าง และส่วนกลางของโพรงจมูก ถ้ามีการอุดกั้นทางเดินของลมหายใจในโพรงจมูก จากสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้ได้รับกลิ่นน้อยลง หรือไม่ได้กลิ่นเลย  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดการอุดกั้นนั้น   สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด,ริดสีดวงจมูก, เยื่อบุจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ หรือจากปฏิกิริยาภูมิแพ้  การสูดหายใจแรงๆ (sniffing)  จะช่วยทำให้อากาศที่หายใจเข้า มีความเร็วเพิ่มขึ้น  มีส่วนของอากาศ และโมเลกุลของสารที่ทำให้เกิดกลิ่น ขึ้นไปถึงเซลล์รับกลิ่นมากขึ้น  ทำให้ได้กลิ่นดีขึ้นร้อยละ 5-20

 3. หน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียง

         จมูกก็มีอิทธิพลต่อลักษณะของเสียงที่เปล่งออกมาด้วย  เนื่องจากช่องจมูกมีลักษณะเป็นโพรง  จึงสามารถทำหน้าที่สะท้อนเสียงที่เปล่งออกมาจากกล่องเสียงได้ (vocal resonance)  ในภาวะปกติ เราอาจไม่ได้สังเกตถึงหน้าที่อันนี้   จนกระทั่งมีการอุดกั้นในโพรงจมูก  จึงทำให้รู้สึกว่า เสียงพูดของเราจะมีลักษณะเปลี่ยนไป  กลายเป็นเสียงอู้อี้ หรือที่เรียกกันว่าเสียงขึ้นจมูก (hyponasal voice)

 4. หน้าที่ถ่ายเทอากาศ และรับของเหลวจากอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง

          จมูกและไซนัสมีทางติดต่อถึงกัน   ผ่านทางรูเปิดของไซนัส   จึงมีการถ่ายเทอากาศ จากในไซนัสทั้ง 4 คู่  เข้าในช่องจมูกตลอดเวลา  เพื่อปรับความดันภายในไซนัส ให้เท่ากับความดันภายนอก   ในรายที่มีความผิดปกติภายในช่องจมูกเช่น เยื่อบุจมูกบวม, มีการอุดตันของช่องจมูกจากริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกต่างๆ  จะทำให้การไหลเวียน หรือการระบายของอากาศจากไซนัสเข้าสู่ช่องจมูก เป็นไปด้วยความยากลำบาก   อาจมีอาการปวดตื้อๆ บริเวณไซนัสนั้นๆ ได้  นอกจากอากาศแล้ว ก็ยังมีการถ่ายเทสารคัดหลั่งจากเยื่อบุไซนัสต่างๆ  มายังช่องจมูก  โดยผ่านทางรูเปิดดังกล่าวด้วย  การอุดกั้นของรูเปิดนี้  จึงอาจทำให้เกิดการคั่งค้างของสารคัดหลั่งในไซนัส  และอาจเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดการติดเชื้อในไซนัส หรือไซนัสอักเสบตามมาได้
           นอกจากนั้น ช่องจมูกยังรับถ่ายเทน้ำตา มาจากถุงน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตาทั้ง 2 ข้าง   ผ่านทางท่อน้ำตา  ซึ่งมีรูเปิดที่  มีตัสอันล่าง ดังได้กล่าวแล้ว   ในขณะที่ร้องไห้จะรู้สึกได้ว่า มีน้ำในช่องจมูก คล้ายมีน้ำมูกพร้อมๆ กันด้วย  หรือในรายที่ช่องจมูกอุดตันจากการใส่วัสดุห้ามเลือด ก็จะมีน้ำตาซึมอยู่ที่ตา  เนื่องจาก การไหลเวียนของน้ำตาในช่องจมูกถูกอุดกั้น

           ด้านหลังของช่องจมูกในโพรงหลังจมูก มีรูเปิดของท่อยูสเตเชียน (eustachian tube) อยู่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งทำหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลาง ให้เท่ากับความดันของบรรยากาศภายนอก  และเป็นทางระบายสารคัดหลั่ง จากเยื่อบุของหูชั้นกลางด้วย  ในรายที่มีการติดเชื้อ หรือการอักเสบของเยื่อบุจมูก อาจลามมาถึงเยื่อบุรอบๆท่อยูสเตเชียนได้  จึงอาจทำให้เกิดอาการหูอื้อ เสียงดังในหู  เนื่องจากการถ่ายเทอากาศ หรือการระบายสารคัดหลั่งจากเยื่อบุของหูชั้นกลางไม่ดี   หรือมีน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง
            เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า จมูกของเรานั้น.............มีหน้าที่สำคัญไม่น้อยทีเดียว

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด