โรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วม

“โรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วม”

ผศ.พญ.สุเพ็ญญา  วโรทัย
ผศ.นพ.สุมนัส  บุณยะรัตเวช
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เมื่อเกิดอุทกภัย
          กระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก สารเคมี  รวมถึงเชื้อโรคต่างๆให้แพร่กระจายและปะปนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง    ก่อให้ เกิดโรคผิวหนังบางชนิด โรคผิวหนังที่พบร่วมกับภาวะน้ำท่วมได้บ่อยมีดังนี้

น้ำกัดเท้า
          เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังเนื่องจากความเปียกชื้นและการสัมผัสสิ่งสกปรก สารเคมีต่างๆในน้ำท่วมขัง  ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ  ผิวหนังจะมีลักษณะเปื่อยลอก  โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าอาจมีผื่นแดง  แสบคันร่วมด้วย

การรักษาเบื้องต้น  คือ ใช้ยาทาแก้คันกลุ่มสเตียรอยด์ครีม  ทาบริเวณผื่นผิวหนังอักเสบ  และอาจใช้ยาฆ่าเชื้อราในกรณีที่มีการติดเชื้อราร่วมด้วย

 การติดเชื้อราที่ผิวหนัง
          หากเกิดมีภาวะน้ำกัดเท้าต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ ผิวที่เปื่อยลอก โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วจะติดเชื้อราได้  ซึ่งจะมีผื่นแดง แฉะ มีขุยขาวลอกบริเวณซอกนิ้ว  หรือเป็นชนิดผื่นหนา เปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุย  ทั้งที่ฝ่าเท้าและซอกนิ้ว  มีกลิ่นเหม็น หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ฮ่องกงฟุต” ซึ่งเกิดจากเชื้อกลากชนิดหนึ่งนั่นเอง

การติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นตื้น
          นอกจากการสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยตรงแล้ว ภาวะที่ผิวหนังอับชื้นอยู่เป็นเวลานานในแต่ละวัน เช่น การสวมรองเท้าบู๊ทยาง  อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นตื้นที่บริเวณฝ่าเท้าได้  ซึ่งจะมีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นหลุมเล็กๆ ส่งกลิ่นเหม็น

แนวทางการดูแลผิวหนังเมื่อประสบอุทกภัย
          - หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกโดยตรง หรือใส่รองเท้าบู๊ทยางเมื่อต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง
          - หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากสัมผัสน้ำท่วมขัง ให้รีบถอดรองเท้าและเสื้อผ้าที่เปียกน้ำออกแล้วล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วซึ่งเกิดการอับชื้น ได้ง่าย
          - หากมีบาดแผลถลอกในบริเวณที่สัมผัสน้ำสกปรกควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชะล้างด้วย

ต้องรีบไปพบแพทย์เมื่อ
          - มีบาดแผลที่เกิดจากของมีคมใต้น้ำทิ่มตำ นอกจากการปฏิบัติการดูแลเบื้องต้นแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับประทานยาป้องกันแผลติดเชื้อและต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย
          - มีการติดเชื้อแบคทีเรียลุกลามลงในผิวหนังชั้นลึกจนเกิดเป็นกลุ่มโรคจำพวกไฟลามทุ่ง ผิวหนังจะบวม แดง ร้อน กดเจ็บ และ ลามเร็วไปยังบริเวณใกล้เคียง  ต่อมาอาจมีไข้สูง  และต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด
          - มีการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นลึกของเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง เช่น เบาหวาน ตับแข็ง โลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นต้น ในกรณีนี้การติดเชื้อมักจะรุนแรง ลามเร็ว และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องรีบไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน
 


           หากต้องการปรึกษาแพทย์ผิวหนัง  ติดต่อนัดหมายล่วงหน้าได้ที่  หน่วยตรวจโรคผิวหนัง
       โรงพยาบาลศิริราช  โทร.  02-4197380-1, 02-4199628  เพื่อมารับการตรวจในเวลาราชการ
               หรือ  โทร.  02-4199801 เพื่อนัดหมายการตรวจ ณ คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด