ความรู้พื้นฐานของยาต้านวัณโรค
ความรู้พื้นฐานของยาต้านวัณโรค
ภก.วิสิฏฐ์ สุรวดี
หน่วยบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ยารักษาวัณโรคคืออะไร?
ยารักษาวัณโรค(Anti-tuberculosis agents) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรควัณโรค สามารถติดเชื้อได้ทุกอวัยวะในร่างกาย แต่ที่พบกันบ่อยที่สุดคือวัณโรคปอด ในปัจจุบันเรามียารักษาวัณโรคอยู่หลายสูตรให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ซึ่งการรักษาผู้ป่วยวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย
ยารักษาวัณโรคมีอะไรบ้าง?
เนื่องจากวัณโรคเป็นเชื้อที่ทนทานมาก จึงจำเป็นต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อให้ควบคุมเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยมีกลุ่มยารักษาหลัก 4ตัว ดังนี้
1.ไอโซไนอะซิด (Isoniazid : H) : ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อ
2. ไรแฟมพิซิน (Rifampicin : R) : ยับยั้งการสร้าง ดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อ
3. พัยราซินาไมด์ (Pyrazinamide : Z) : ยับยั้งการสร้างกรดไขมันและโปรตีนที่จำเป็นต่อเชื้อ
4. อีแธมบูทอล (Ethambutol : E) : ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อ
ต้องรับประทานยาไปนานเท่าใร?
สูตรการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยใหม่ มีระยะเวลาการรักษา 6 เดือน โดยใน 2 เดือนแรกเป็นช่วงการรักษาเข้มข้น ผู้ป่วยจะได้รับยา 4 ตัว ส่วนอีก 4 เดือนหลังเป็นช่วงการรักษาต่อเนื่องแพทย์จะลดยาลงเหลือเพียง 2 ตัว โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและห้ามหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว เนื่องจากร่างกายยังกำจัดเชื้อออกไปไม่หมด การหยุดยาเองจะทำให้การรักษาล้มเหลว กลับมาเป็นซ้ำหรือมีการดื้อยาได้ ซึ่งต้องใช้สูตรยาที่มีความซับซ้อนและอาจต้องใช้ระยะเวลารักษามากถึง 18 เดือน การให้ความร่วมมือของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญอย่างมากในการรักษา
การรักษาต้องใช้ระยะเวลานาน ผู้ป่วยอาจต้องการญาติ หรือเพื่อนคอยดูแล ให้กำลังใจในการใช้ยาและสนับสนุนให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้มีโอกาสรักษาสำเร็จมากขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้ยาและการเก็บรักษายา
- ถ้ายาอยู่ในแผง ไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากแผง หากต้องการแบ่งเป็นมื้อ ให้ตัดแบ่งแผงยาตามจำนวนที่ต้องการแบ่ง
- หากมีประวัติการแพ้ยา ตั้งครรภ์ หรือโรคประจำตัว ควรแจ้งทุกครั้งที่รับการตรวจหรือรับยา เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์
- ให้รับประทานยาพร้อมน้ำเปล่าขณะท้องว่าง(ก่อนอาหาร 1 ชม. หรือหลังอาหาร 2 ชม.) และให้รับประทานยาห่างจากยาลดกรด มากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้การดูดซึมยามีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังควรงดดื่มแอล์กอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิดเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงและพิษจากยา
- เก็บยาให้พ้นแสงแดด พ้นความร้อน ความชื้น พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- หากลืมรับประทานยา ถ้าลืมภายใน 12 ชม. ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ ถ้าเกิน 12 ชม.ไปแล้ว ให้ข้ามมื้อนั้นไป และรับประทานมื้อต่อไปตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยต้องจดบันทึกแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจติดตาม
อาการไม่พึงประสงค์จากยา แบ่งเป็นผลข้างเคียงรุนแรงและไม่รุนแรง ดังนี้
1. ผลข้างเคียงรุนแรง ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที*
- การได้ยินผิดปกติ
- เวียนหัวเดินเซ
- ผื่น มีไข้เจ็บคอ เจ็บตา
- การมองเห็นผิดปกติ
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
* หากมีอาการด้านบนเกิดขึ้น แพทย์อาจเปลี่ยนสูตรการรักษา ซึ่งให้ประสิทธิภาพและผลลัพธ์เช่นเดียวกันกับสูตรปกติ
2. ผลข้างเคียงไม่รุนแรง ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถใช้ยาต่อได้แต่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ**
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผื่นคันเล็กน้อย
- ชามือ ชาเท้า
- ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
** ปัสสาวะ น้ำตา และเหงื่อ เปลี่ยนเป็นสีส้ม แดง เกิดจากสีของตัวยา ไรแฟมพิซิน ที่ขับออกมา ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ทุกราย เป็นอาการที่ไม่อันตราย ไม่จำเป็นต้องแจ้งเพทย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม(Soft-lens) ตัวยาในน้ำตาจะเปลี่ยนสีคอนแทคเลนส์อย่างถาวร ดังนั้นในระหว่างการรักษา จึงควรเปลี่ยนจากคอนแทกเลนส์มาใช้เป็นแว่นตาแทน
การป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรค
- ใส่หน้ากากอนามัยอย่างน้อย 2 เดือน หลังแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อวัณโรค
- ใช้ผ้าเช็ดหน้าทุกครั้งที่ไอหรือจาม
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่สัมผัสสารคัดหลั่ง*ของผู้ป่วย
- ผาทำลายขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่ง*ผู้ป่วย
- ทิ้งขยะของผู้ป่วยในถังขยะที่มีถุงรองรับและมีฝาปิดสนิท
- มาตรวจตามนัดหรือเมื่อมีอาการมากขึ้น
- รับประทานยาถูกต้องและสมํ่าเสมอ
*สารคัดหลั่ง คือ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
สรุป
วัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องรับประทานยาหลายตัว ใช้ระยะเวลารักษาตัวนานและมีข้อกำหนดในการปฏิบัติตัวระหว่างการรักษาหลายข้อ ความร่วมมือของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมากต่อการรักษา ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเองเพราะจะทำให้การรักษาล้มเหลว กลับมาเป็นซ้ำหรือมีการดื้อยาได้ นอกจากนนี้ผู้ป่วยควรใช้ยาและเก็บรักษายาต้านวัณโรคให้ถูกต้องเหมาะสม และควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงควรหยุดยาและกลับมาพบแพทย์ทันที หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร