โรคซึมเศร้า...ปัญหาที่มีทางออก

โรคซึมเศร้า...ปัญหาที่มีทางออก

อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

            หลายคนตั้งข้อสงสัยถึงโรคทางจิตเวชโรคหนึ่ง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงมากในปัจจุบัน นั่นคือ โรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของโรค ความรุนแรง หรือ การช่วยเหลือคนใกล้ตัวที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เราจะป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้อย่างไร

            ความเศร้าเสียใจ เป็นอารมณ์ที่เกิดในคนปกติได้ หากบุคคลสามารถการจัดการความเศร้า และความเศร้านั้นไม่เกิดนานเกินไป บุคคลนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ส่วนโรคซึมเศร้า คือ โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอารณ์เศร้า หรือ เบื่อหน่ายมากกว่าและนานกว่าปกติ โดยมักเป็นทุกวัน ระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ อารมณ์ดังกล่าวส่งผลถึงพฤติกรรม เช่น การไม่สนใจทำกิจกรรมต่าง ๆที่เคยสนใจ การรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารน้อยลง นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ อีกทั้งมุมมองต่อตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ความมั่นใจน้อยลง มองสิ่งรอบตัวในแง่ลบ และอาการรุนแรง คือ มีความคิดอยากตาย หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัย โดยอาศัยการสัมภาษณ์ ซักประวัติ และประเมินอาการด้วยการตรวจสภาพจิต

            สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจาก ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ เช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายบางอย่าง การใช้สาสรเสพติดหรือยาบางประเภท ก็ทำให้มีอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ด้านจิตใจ เช่น ทักษะการปรับตัวต่อปัญหา การจัดการความเครียด และบุคลิกภาพ นอกจากนี้ คือ ปัจจัยด้านสังคม เช่น มีการสูญเสีย คนใกล้ตัวมีความเครียด หรือมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

            โรคซึมเศร้ารักษาด้วยการรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาปรับสารเคมีในสมอง ด้านจิตใจ ควรมีการพูดคุยกับคนใกล้ตัว การมองหาความช่วยเหลือ หรือหนทางในการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ด้านสังคม เช่น การดึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม การหากิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย หากผู้ป่วยได้รับการรักษา ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคและใช้ชีวิตได้ตามปกติ    ส่วนการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า คือ การดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง การหลีกเลี่ยงสารเสพติด และการฝึกจัดการกับอารมณ์เครียดของตนเอง

คนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัว คือ ผู้ที่สามารถช่วยผู้ป่วยได้ โดยการสังเกตอาการและการตระหนักถึงโรคนี้ หากสังเกตว่าคนใกล้ตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เศร้า หงุดหงิด ไม่อยากทำอะไรเหมือนที่เคยทำ ไม่ควรคิดว่าคนคนนั้นเรียกร้องความสนใจ ให้สอบถามว่าเขาต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร หากสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ควรแนะนำให้เข้าสู่การรักษา ที่สำคัญ คือ การรับฟังโดยไม่ตัดสิน และ ไม่ทอดทิ้ง หรือเพิกเฉย

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด