โรคไข้ซิกา อันตรายจากยุงลาย วายร้ายตัวจิ๋ว
โรคไข้ซิกา อันตรายจากยุงลาย วายร้ายตัวจิ๋ว
งานโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคไข้ซิกา ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในหลายจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคนี้เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ที่เมื่อใดพบผู้ป่วยจะต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทุกครั้ง โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) จำพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี่ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมี ยุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยทั่วไปยุงลายเพศเมียจะกัดในช่วงเช้า หรือ เย็นจนถึงพลบค่ำ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-14 วันหลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด
ติดต่อกันอย่างไร
เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ทางเลือด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ หรือ แพร่จากมารดาที่ป่วยไปสู่ทารกในครรภ์
อาการ
ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ บางรายอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดออกมามีภาวะศีรษะเล็กได้
กลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกามากที่สุด คือ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ หากติดเชื้อแล้ว อาจทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตราย เกิดความพิการแต่กำเนิด คือ เด็กจะมีศีรษะเล็กกว่าปกติ (microcephaly) และอาจส่งผลทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือ เกิดการแท้งตามได้ ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ควรมารับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ หรือ เด็กโต บางรายที่ป่วยอาจมีอาการ ชาปลายมือปลายเท้า ร่วมกับ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นผลจากปลอกหุ้มเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบเฉียบพลัน แทรกซ้อนตามมาได้
การรักษา
การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ
วิธีป้องกัน โรคไข้ซิกาสามารถป้องกันได้ เพียงระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด โดย
- นอนกางมุ้ง หรือ ติดมุ้งลวดป้องกันยุงเข้าบ้าน
- สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยการทำความสะอาด เทน้ำในภาชนะทิ้ง หรือ ปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำขังอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- ใช้สารทาป้องกันยุงกัด กรณีในหญิงตั้งครรภ์ ให้ใช้สารทาป้องกันยุงที่มีส่วนประกอบสำคัญ เช่น DEET ความเข้มข้น 10-30% ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ก่อนซื้อสังเกตที่ฉลาก )
ผู้ที่ปวยแล้วจะลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้หรือไม่
ผู้ป่วยสามารถลดการแพร่เชื้อได้โดย
1. ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการไม่สบาย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีเชื้อเหลืออยู่ในกระแสเลือดหากถูกยุงกัดในช่วงนี้จะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้
2. เพื่อลดการแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธุ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธุ์ หรือ ใช้ถุงยางอนามัย สำหรับผู้ป่วยชาย เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน และ ผู้ป่วยหญิง เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน