วัณโรคหลังโพรงจมูก

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

        วัณโรคยังเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในประเทศไทย การดูแลผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จากฐานข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2560  ปริมาณผู้ป่วยยังคงสูงขึ้น  ไม่มีแนวโน้มลดลงจาก 5 ปีก่อน

จำนวนประชากร

69 ล้านคน

ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ

80,160 คน

เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 34

วัณโรคนอกปอด

ร้อยละ 17

ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

ร้อยละ 11

รักษาครบหรือหายขาด

ร้อยละ 83

เสียชีวิตจากวัณโรค

ร้อยละ 15

วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ในผู้ป่วยรายใหม่

ร้อยละ 2.2

        คนทั่วไปมักรู้จักวัณโรคปอด  แต่ในความเป็นจริง วัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะต่างๆ อาทิ วัณโรคหลังโพรงจมูก  

         วัณโรคหลังโพรงจมูก จัดเป็นวัณโรคนอกปอด ซึ่งพบได้น้อย (ช่วงปี 2530-2535 รพ.ศิริราช พบผู้ป่วย 15 ราย จากทั้งหมดประมาณ 12,000 ราย) เกิดจากการติดเชื้อวัณโรคที่ปอด แล้วกระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหอย  หรือจากการติดเชื้อวัณโรคบริเวณคอหอยโดยตรง  

ส่วนใหญ่พบในเด็กและผู้สูงอายุ แต่ก็พบได้ในทุกช่วงวัย

         อาการ มีก้อนที่คอจากต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนน้อยหากมีอาการจุกแน่น  เจ็บ หรือระคายในคอเรื้อรังซึ่งอาการนี้จะแยกไม่ออกจากมะเร็งคอหอยที่พบบ่อยในคนไทย ส่วนอาการอื่นของวัณโรคและวัณโรคปอดพบร่วมได้ราวหนึ่งในสาม อย่างไรก็ตาม ควรพบแพทย์เฉพาะทางหู คอจมูก เพื่อทำการตรวจโดยละเอียด

         การวินิจฉัย ด้วยการส่องกล้องตรวจบริเวณหลังโพรงจมูก และตัดชิ้นเนื้อตรวจทางจุลชีววิทยา โดยย้อมและเพาะเชื้อวัณโรค หรือตรวจหาลักษณะของวัณโรคทางพยาธิวิทยา ปัจจุบันนิยมใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา ช่วยให้วินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น

 การป้องกัน ลดโอกาสเป็นวัณโรคปอด และวัณโรคหลังโพรงจมูก
          1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
         2. หลีกเลี่ยงในที่ที่คนอยู่แออัด อับทึบ แสงสว่างไม่เพียงพอ
          3. หากมีอาการไอเกิน  2 สัปดาห์ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือสงสัยว่าเป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก  โดยคลำพบก้อนที่คอ  หรือจุกแน่น  เจ็บ หรือระคายคอเกิน  2  สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์   
          4. หากมีคนใกล้ชิดเป็นวัณโรค บุคคลที่อยู่ร่วมด้วยต้องรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจว่าได้รับเชื้อหรือไม่ ส่วนคนใกล้ชิดต้องช่วยดูแลให้เขารักษาวัณโรคจนครบและหายขาด


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด