โรคประสาทหูดับเฉียบพลัน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลายท่านที่มีอาการอยู่ดี ๆ หูก็ไม่ได้ยินไปเฉย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และสงสัยว่าเกิดจากอะไร เป็นโรคประสาทหูดับเฉียบพลันหรือไม่ และรักษาได้อย่างไร จะมาคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้
โรคประสาทหูดับเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สาเหตุที่อาจพบได้ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริม เมื่อร่างกายเราอ่อนแอจะทำให้เชื้อเริมที่ซ่อนอยู่ในร่างกายกำเริบ หรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะหมูดิบ เลือดหมูดิบ ซึ่งจะมีเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเป็นสาเหตุให้เกิดประสาทหูดับเฉียบพลันได้ หรือการขาดเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน ส่วนใหญ่มักจะพบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันสูงในเลือด และควบคุมไม่ดี หรือเกิดจากการสัมผัสเสียงดัง เช่น การได้ยินเสียงระเบิด ฟ้าผ่า ประทัดดัง ๆ การใส่หูฟังที่เปิดเสียงดัง
อีกสาเหตุหนึ่งที่พบไม่บ่อยนัก คือ การเปลี่ยนแปลงความดันเร็วๆ เช่น การดำน้ำลึกและมีการขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว
ผู้ป่วยที่เป็นโรคประสาทหูดับเฉียบพลัน จะรู้สึกว่าการได้ยินของตัวเองลดลงอย่างทันที ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้างเดียว อาจจะมีอาการนำมาก่อน เช่น การเป็นหวัด หรือมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในส่วนต้นนำมาก่อน และผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เสียงดังในหู หรือ เวียนศีรษะ
การวินิจฉัยโรคประสาทหูดับเฉียบพลัน เนื่องจากโรคประสาทหูดับเฉียบพลันเกิดขึ้นบริเวณหูชั้นใน ดังนั้นผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะทำการวินิจฉัย ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และตรวจการได้ยินเบื้องต้น เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคประสาทหูดับเฉียบพลัน
ในส่วนของการรักษา แพทย์จะให้ยาลดการอักเสบของเส้นประสาท ส่วนการสืบค้นที่แพทย์จะทำต่อไปขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญแพทย์จะทำการเจาะเลือด ตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง เพื่อหาสาเหตุที่สามารถรักษาได้ ส่วนการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ในบางราย อาจพบเนื้องอกของเส้นประสาทการได้ยินซึ่งพบได้น้อย การที่ผู้ป่วยมีอาการและรีบมารักษาจะทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วและกลับไปได้ยินเหมือนปกติได้
การป้องกันโรคประสาทหูดับเฉียบพลัน สิ่งที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพ หลีกเลี่ยงเสียงดัง หากจำเป็นต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดังควรจะใส่เครื่องป้องกัน รับประทานอาหารที่สุกสะอาด ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในระดับปกติ