โรคไทรอยด์เป็นพิษ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ จริง ๆ แล้วโรคนี้จะมีอันตรายร้ายแรงแค่ไหนจะทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ มารับทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
ไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาร่างกายของเราเอง ที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์มีมากเกินความจำเป็น ก็จะส่งผลให้มีอาการในอวัยวะต่าง ๆ ได้หลาย ๆ อย่าง เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอย์ทำงานมากผิดปกตินี้ว่า ไทรอยด์เป็นพิษ
ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการได้หลากหลาย เช่น ใจสั่น มือสั่น ทำกิจกรรมก็จะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ น้ำหนักลดได้ ในเพศหญิงบางคนอาจประจำเดือนมาผิดปกติ บางรายอาจมีถ่ายเหลวคล้าย ท้องเสียถ่ายวันละหลาย ๆ ครั้ง อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย บางรายอาจสังเกตได้ว่ามี คอโต ตาโปนได้ บางรายที่เป็นนาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือว่าภาวะกระดูกบางที่เกิดจากแคลเซียมในเลือดที่สูงกว่าปกติ ทำให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุน
ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากร่างกายของเราเอง ดังนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่แล้ว ปกติแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรหยุดยาเองให้ปรึกษาแพทย์ เมื่ออาการดีขึ้น ผลเลือดดีขึ้น แพทย์จึงจะค่อย ๆ ลดยาลง ในบางรายอาจหยุดยาได้ในที่สุด
ส่วนการรักษาอื่น ๆ ถ้าในกรณีที่รักษาด้วยการรับประทานยาแล้วได้ผล อาจจะให้การรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน หรือการผ่าตัด อย่างไรก็ตามแพทย์ก็จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้