ความเข้าใจโรคต้อกระจก ที่ต้องรู้ทัน

ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

        ความเสื่อมของร่างกายเป็นไปตามวัย ดวงตาก็เช่นกันเมื่ออายุมากขึ้นอาจมีสายตาขุ่นมัว มองเห็นไม่ชัด สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยคือ โรคต้อกระจก และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ยังมีอีกหลายคนที่รักษาด้วยความเชื่อแบบผิด ๆ มาทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับเรื่องนี้กันครับ

ผู้สูงอายุจะสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคต้อกระจกได้หรือไม่

        เนื่องจากสาเหตุหลักของโรคต้อกระจกนั้น คือ การเสื่อมตามวัย  ดังนั้นเราจะสามารถพบภาวะต้อกระจกได้ทั่วไปในผู้ป่วยสูงอายุอยู่แล้ว แต่นอกจากเรื่องของอายุแล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดภาวะต้อกระจกได้เร็วขึ้น เช่น  การได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดดจัด การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ที่ควบคุมได้ไม่ดี การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน รวมทั้งการที่เคยได้รับการบาดเจ็บ การผ่าตัด การอักเสบที่ดวงตา ซึ่งสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะต้อกระจกได้เร็วขึ้น

        ดังนั้น การป้องกัน และชะลอการเกิดต้อกระจกนั้น จึงสามารถทำได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กล่าวมา เช่น การใส่แว่นกันแดดหรือกางร่มก่อนออกกลางแจ้ง  ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรรักษาและควบคุมโรคประจำตัวต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาใด ๆ ต่อเนื่องก็ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง และ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตาเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ

ความเชื่อผิด ๆ ในการรักษาโรคต้อกระจกจะเป็นอันตรายหรือไม่ 

        ในปัจจุบันนั้น ผู้สูงอายุบางคนยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องในการซื้อยามาหยอดตาเอง หรือการรับประทานอาหารเสริมบางชนิด ซึ่งในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาทางการแพทย์ใด ๆ ที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพว่า การใช้อาหารเสริม หรือยาหยอดตาสามารถป้องกันและชะลอภาวะต้อกระจกได้ ดังนั้น จึงไม่ควรเชื่อคำโฆษณาใด ๆ ในการซื้อยา อาหารเสริม และยาหยอดตามาใช้เพื่อป้องกันภาวะต้อกระจก เพราะในรายที่มีภาวะต้อกระจกที่เป็นมากหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นได้อีกด้วย

การรักษาโรคต้อกระจกที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

        การรักษาโรคต้อกระจก ในระยะเริ่มแรกสามารถทำได้โดยการใส่แว่นตา เพื่อปรับค่าสายตาให้เหมาะสม จนกระทั่งภาวะต้อกระจกเป็นมากขึ้น จักษุแพทย์ก็จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดต้อกระจก และใส่เลนส์ตาเทียม ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดสามารถทำได้โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) สลายต้อกระจก ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมามองเห็น ได้เป็นปกติอีกครั้งหลังจากที่ได้รับการผ่าตัด  ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าเป็นต้อกระจก จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด