โภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งการับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคซ้ำได้

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
            โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
            การประเมินตัวเองว่ามีน้ำหนักตัวเกินหรือไม่ สามารถคำนวณได้โดย
            ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง ยกกำลัง 2 (เมตร)

ดัชนีมวลกาย

สภาวะน้ำหนักตัว

น้อยกว่า 18.5

ผอม

18.5-22.9

น้ำหนักปกติ

23.0-24.9

ภาวะน้ำหนักเกิน

25.0-29.9

อ้วนขั้นที่ 1

30.0-39.9

อ้วนขั้นที่ 2

มากกว่าหรือเท่ากับ 40

อ้วนอันตราย

            จากตารางเทียบดัชนีมวลกายข้างต้น เป้นตัวชี้ว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากมีน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน ควรจำกัดการบริโภคอาหารโดยหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีแป้งและน้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด อาหารไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแกงกะทิ และของทอด เป็นต้น

ผู้ที่มีภาวะความดันสูง
         
ควรควบคุมอาหารที่จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เนื่องจากหากมีภาวะความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ การบริโภคอาหารเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง มีดังนี้
            1. ลดเค็มจำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส
            2. รับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน

ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
            อาหารประเภทไขมันมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย เนื่องจากให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินต่าง ๆ เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทไขมัน แต่ปริมาณที่ได้รับไม่เกินร้อยละ 25-30 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากสารอาหาร เพราะเมื่อรับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จะทำให้เกิดโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงได้ แนวทางในการบริโภคอาหาร เพื่อลดปริมาณไขมันในเลือดมีดังนี้
            1. หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอื่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น เนย ครีม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม อาหารที่ทำจากกะทิ เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
            2. จำกัดปริมาณคอเรสเตอรอลในอาหารไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม
                        - รับประทานไข่แดง ไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง
                        - หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ทุกชนิด
                        - หลีกเลี่ยงอาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาหมึก หอยนางรม กุ้ง
                        - เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เต้าหู้
                        - เลือกดื่มนมพร่องมันเนย หรือ นมไขมันต่ำ
            3. เลือกวิธีการปรุงอาหารที่ใช้ไขมันน้อย เช่น ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ย่าง ยำ แทนการทอดหรือผัด ซึ่งใช้น้ำมันในปริมาณมาก
            4. รับประทานไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารแทนการใช้น้ำมันจากสัตว์ ซึ่งน้ำมันพืชที่ดี คือ น้ำมันมะกอกรองลงมาคือ น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว แต่ต้องเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับวิธีการปรุงประกอบ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวเหมาะสมกับการผัด ส่วนน้ำมันลืมเหมาะสมกับการทอด แต่ควรมช้เพียงครั้งเกียว (ไม่ควรใช้น้ำมันในการทอดอาหารซ้ำ)
            5. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เนื่องจากใยอาหารจะ ช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
            6 .หลีกเลี่ยงน้ำหนาว ขนมหวานทุกชนิดที่หวานมีน้ำตาลหรือแป้งมาก รับปรทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังแต่พอสมควร รวมถึงการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะสะสมเกิดเป็นไขมันได้

ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือ เบาหวาน
         
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกูลโคสในเลือดไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาหารที่รับประทานเข้าไป จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไป น้ำตาลที่นำไปใช้ไม่หมดจะสะสมอยู่ในกระแสเลือด ถ้ามีมากก็จะออกมาในปัสสาวะได้ ผู้ป่วยเบากวานมีโอกาสทีจะเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบมากกว่าปกติ ซึ่งโรคดังกล่าวนั้น ก็จะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ หลักในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนเบาหวานดังนี้
            1. รับประทานอาหารให้หลากหลายและรับประทานให้เป้นเวลา
            2. หลีกเลี่ยงของหวานและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
            3. รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่มีใยอาหารมากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
            - อาหารที่มีรสหวานจัด ขนมหวาน น้ำตาลทุกชนิด
            - ผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน
            - น้ำหวาน ลูกอม ลูกกวาด น้ำอัดลม

                                                        Stroke ตีบ ตัน แตก ตาย 1669

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด