มะเร็งปากมดลูก.....สามารถป้องกันได้

สาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          จากสถิติปี 2563 พบมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 9,000 ราย และเสียชีวิตปีละ 4,700 ราย หรือในแต่ละวันจะมีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 13 คนซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ Human Papillomavirus หรือ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 14 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดโดยพบสูงถึงร้อยละ 70 การติดเชื้อไวรัสนี้เกือบทั้งหมดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยเชื้อไวรัสจะเข้าทางผิวที่มีรอยแผล หรือรอยถลอกเล็กๆ ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะหายได้เองภายใน 2 ปีโดยภูมิต้านทานของร่างกาย ในกรณีที่เชื้อไวรัสนี้ไม่หายไป และเป็นการติดเชื้อแบบฝังแน่นเป็นระยะเวลานาน 5-10 ปี ทำให้เซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติ และอาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด นอกจากนี้ การติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์บริเวณอื่นๆ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ได้แก่ ช่องคลอด ปากช่องคลอด ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศชาย ตลอดจนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งบริเวณช่องปาก และลำคออีกด้วย

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

          1. การป้องกันระดับปฐมภูมิ (primary prevention) ประกอบด้วยการมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV เช่น การไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV โดยการฉีดวัคซีนซึ่งถือเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ต้นทางหรือระดับปฐมภูมิด้วย ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV 3 ชนิด ดังนี้

ชนิดวัคซีน HPV

ป้องกันสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง

ที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก

ป้องกันสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ

ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่

2 สายพันธุ์

16, 18

-

4 สายพันธุ์

16, 18

6, 11

9 สายพันธุ์

16, 18, 31, 33, 45, 52, 58

6, 11

         

          วัคซีนทั้งชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 ในขณะที่วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้สูงถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ ทั้งวัคซีน 4 สายพันธุ์และ 9 สายพันธุ์สามารถป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศได้ด้วย สามารถเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวให้เด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นไปจนถึงอายุ 45 ปี ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน ประโยชน์อาจจะลดลงบ้างในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว สำหรับเด็กผู้ชาย และผู้ชายก็ได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้ในการป้องกันมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ และมะเร็งทวารหนักด้วย โดยทั่วไป แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็มที่ 0, 2, และ 6 เดือน ยกเว้นในกรณีที่อายุน้อยกว่า 15 ปีให้ฉีดเพียง 2 เข็มที่ 0, 6 เดือน หรือ 0, 12 เดือน

          2. การป้องกันระดับทุติยภูมิ (secondary prevention) เป็นการตรวจคัดกรองหารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้รอยโรคดังกล่าวกลายเป็นมะเร็งในที่สุดซึ่งถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

          3. การป้องกันระดับตติยภูมิ (tertiary prevention) เป็นการดูแลรักษามะเร็งปากมดลูกทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา และ/หรือการให้เคมีบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ไขข้อข้องใจกับคำถามที่พบบ่อย

1. หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ครบ 3 เข็มแล้ว ต้องการฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่  

ตอบ สามารถฉีดได้ แต่ควรเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 3 ของวัคซีนชนิดก่อนหน้าอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงเริ่มฉีดวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์โดยฉีดให้ครบ 3 เข็ม

2. ต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่

ตอบ จากการติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ไม่พบว่ามีรอยโรคผิดปกติที่ปากมดลูกเพิ่มขึ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย  ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ (Booster)

3. เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาแล้ว วัคซีนยังคงมีประโยชน์หรือไม่

ตอบ ยังมีประโยชน์ โดยวัคซีนจะป้องกันติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่เคยติดมาก่อน และยังป้องกันการติดเชื้อซ้ำในกรณีที่เคยได้รับเชื้อ HPV และร่างกายกำจัดเชื้อไปแล้ว เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากฉีดวัคซีนจะมีระดับที่สูงกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองหลังการติดเชื้อตามธรรมชาติ นอกจากนี้ วัคซีนยังช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของรอยโรคในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษารอยโรคผิดปกติที่ปากมดลูกมาก่อนด้วย

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด