เรียนรู้เรื่องเคมีบำบัด

สาขาวิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การรักษาโรคมะเร็งมีวิธีการใดบ้าง

ในปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งมี 2 วิธีหลักดังต่อไปนี้
        1. การรักษาเฉพาะที่ที่ก้อนมะเร็ง ได้แก่ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก  และการใข้รังสีรักษาฉายที่บริเวณก้อนมะเร็ง

        2. การรักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ยาฮอร์โมน (hormonal therapy) และยาที่จำเพาะต่อโมเลกุลเป้าหมายในการเกิดมะเร็งหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ยามุ่งเป้า (molecular targeted therapy)

เคมีบำบัดคืออะไร

          เคมีบำบัดคือ ยาที่มีผลในการทำลายหรือฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย เป็นวิธีการรักษาที่มีผลทั่วร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดและรังสีรักษา โดยเคมีบำบัดจะมีผลทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งของเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสารพันธุกรรม (DNA) ในเซลล์ หรือยับยั้งกระบวนการปรกติที่เกิดภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัว เป็นผลให้เซลล์ตาย

การรักษาด้วยเคมีบำบัด มีข้อบ่งชี้ดังนี้

       1. ในกรณีที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย

            1.1 เคมีบำบัดสามารถทำให้โรคหายได้ในมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ที่อัณฑะหรือรังไข่

            1.2 เคมีบำบัดสามารถยืดระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ให้ยาวนานขึ้น ลดอาการที่เกิดจากโรค ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

       2. ในกรณีที่เป็นมะเร็งระยะแรก แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการแพร่กระจาย เคมีบำบัดสามารถใช้เป็นการรักษาเสริมก่อนหรือหลังการผ่าตัด เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคให้มากขึ้น

การรักษาด้วยเคมีบำบัดทำได้อย่างไร

          การรักษาด้วยเคมีบำบัด ส่วนใหญ่ให้ยาเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีด หรือผสมกับสารน้ำให้ทางหลอดเลือดดำ โดยทั่วไปมักจะให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไป และมีลักษณะการให้ยาเป็นรอบ ๆ เพื่อให้เซลล์ปรกติของร่างกายได้พักและฟื้นตัวจากเคมีบำบัด แต่ละรอบมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยการให้ยาในแต่ละรอบ อาจใช้เวลาในการให้ยาเป็นนาที ชั่วโมง หรือต้องให้ยาต่อเนื่องกันมากกว่า 1 วันขึ้นไป การให้ยาเคมีบำบัดสามารถรักษาได้แบบผู้ป่วยนอกแบบไป-กลับ การให้ยาบางสูตรต้องได้รับยาต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน จึงต้องได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ส่วนจำนวนรอบของการให้ยา ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่รักษา นอกจากนี้ มียาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถให้ยาโดยการรับประทานได้

ผลข้างเคียงที่เกิดจากเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง

          เนื่องจากเคมีบำบัดไม่สามารถจำแนกแยกแยะระหว่างเซลล์มะเร็งและเซลล์ปรกติในร่างกาย ทำให้มีผลข้างเคียงของการรักษาซึ่งเกิดจากผลจากเคมีบำบัดต่อเซลล์ปรกติ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ผิวหนัง หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร  ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ ภายหลังการได้รับยา เป็นอยู่ชั่วคราว มีอาการดีขึ้นภายในช่วงเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์  ผลข้างเคียงบางอย่างอาจเกิดขึ้นในระยะยาวภายหลังจากได้รับเคมีบำบัดครบไปนานเป็นเดือนหรือปี 

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังได้รับยาที่พบได้บ่อยของเคมีบำบัด มีดังต่อไปนี้

          1.  การกดการทำงานของไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด ทำให้มีเม็ดเลือดลดต่ำลง

                1.1 เม็ดเลือดขาวต่ำ มักเกิดภายหลังจากที่ได้รับเคมีบำบัดประมาณ 7-14 วัน ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาการแสดงที่สำคัญ คือ ไข้ หรือมีอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย อาการไข้ภายหลังจากได้รับเคมีบำบัดเป็นอาการที่ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่มาโรงพยาบาล

                1.2 เม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้เกิดภาวะซีด อ่อนเพลีย มักเกิดภายหลังจากที่ได้รับเคมีบำบัดหลาย ๆ รอบ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะซีดมากและมีอาการ อาจต้องให้การรักษาโดยการให้เลือด

                1.3 เกร็ดเลือดต่ำ พบได้สำหรับยาเคมีบำบัดบางชนิด ถ้าเกร็ดเลือดอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก อาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ถ้ามีอาการเลือดออกผิดปรกติ

          2.  อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของเคมีบำบัดที่ได้รับ การดูแลรักษาที่สำคัญ คือการป้องกัน โดยให้ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียนชนิดฉีดก่อนให้ยาเคมีบำบัด และให้ยาแก้คลื่นไส้ชนิดกินเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียนที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 3-5 วันแรกหลังจากได้รับเคมีบำบัด ในปัจจุบันยาแก้คลื่นไส้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น สามารถลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้มาก

          3.  อาการทางผิวหนัง ได้แก่ ผมร่วง ซึ่งเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของเคมีบำบัดที่ได้รับ ยาบางชนิดทำให้ผมร่วงน้อยมาก ในขณะที่ยาบางชนิดทำให้ผมร่วงหมดศีรษะ โดยทั่วไปผมจะเริ่มร่วงหลังจากได้รับยาครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และผมจะเริ่มงอกขึ้นใหม่หลังจากได้รับยาครั้งสุดท้ายไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ อาการทางผิวหนังอื่น ๆ ได้แก่ ผิวหนังหรือหลอดเลือดบริเวณที่ให้ยามีสีคล้ำขึ้น ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและเท้าอักเสบ มีการเปลี่ยนแปลงของเล็บ เล็บเปราะ สีคล้ำ มีลายเส้นที่เล็บ ซึ่งจะหายไปหลังจากหยุดยา

          ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้จากยาเคมีบำบัดบางชนิด ได้แก่ อาการเจ็บภายในช่องปาก มีแผลในปาก ท้องเสีย ซึ่งสามารถให้ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ นอกจากนี้ เคมีบำบัดอาจมีผลต่อเซลล์สืบพันธุ์ ทำให้ผู้ป่วยในวัยเด็กหรือวัยเจริญพันธุ์ อาจมีโอกาสมีบุตรยากในอนาคต เคมีบำบัดบางชนิดมีผลต่อเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการชาปลายมือและเท้า

          ผลข้างเคียงต่าง ๆ มีผลทำให้เกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้ป่วยในช่วงหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด ดังนั้น  ก่อนให้การรักษา แพทย์และทีมผู้รักษาจะอธิบายผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด รายละเอียดของผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละชนิดหรือสูตรของเคมีบำบัดที่ใช้รักษา รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย และให้การดูแลรักษาถ้ามีผลข้างเคียงที่รุนแรงเกิดขึ้น

ข้อมูลจาก >> สถานวิทยามะเร็งศิริราช

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด