โรคเอดส์ ตอนที่ 2

โรคเอดส์ (ตอนที่ 2)

ผศ.นพ.ถนอมศักดิ์  เอนกธนานนท์ 
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            วิธีการให้กำลังใจกับครอบครัวและผู้ป่วย รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพเมื่อรู้ว่าได้รับเชื้อเอดส์เข้าสู่ร่างกายควรทำอย่างไร
            ก่อนที่จะรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ HIV นั้น  ต้องมีการตรวจเลือดเสียก่อน  และในการตรวจเลือดควรจะมีการให้คำปรึกษาก่อนตรวจเลือดเพื่อเตรียมความพร้อม ประเมินปัจจัยเสี่ยงและให้คำปรึกษาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง  หลังจากทราบผลเลือดแล้วก็ควรแนะนำเรื่องวิธีการรักษาทางเลือกต่าง ๆ การดูแลปฏิบัติตัว   โดยทั่วไปถ้าเราทราบว่าคน ๆนั้นติดเชื้อแล้วเราก็จะตรวจดูภูมิต้านทานว่าอยู่ในระดับไหนแล้ว  โดยการตรวจเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า CD4  ถ้าคนที่ติดเชื้อ HIV ยังมีภูมิต้านทานดีก็ให้ปฏิบัติตัวตามปกติ  หลีกเลี่ยงการรับเชื้อเพิ่ม  เช่น ไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง  หรือว่าใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับคนอื่น ส่วนเรื่องอาหารน้ำดื่มจะต้องสะอาด  สุก  โดยเฉพาะการรับประทานไข่ที่ไม่สุก เช่น ไข่ดาวไม่สุก หรือตอกไข่ใส่โจ๊กใส่โอวัลตินไม่ควรรับประทานที่ไม่สุก ควรรับประทานที่สุกใหม่ ๆ สำหรับน้ำแข็งควรระวัง หากดื่มน้ำต้มจะดีมาก  ส่วนผักถ้าจะรับประทานผักสดผลไม้ควรล้างให้สะอาด ผลไม้ควรปอกเปลือก 

ผู้ที่ติดเชื้อสามารถอยู่ร่วมกับคนปกติธรรมดาได้ไหม
            สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ แต่ถึงแม้ว่าคน ๆ นั้นไม่ได้ติดเชื้อ HIV อย่างเช่นในการรับประทานอาหารก็ควรมีช้อนกลาง  แก้วน้ำก็ไม่ควรใช้ร่วมกัน  ไม่ควรไปดื่มน้ำที่เหลือจากแก้วนั้นต่อ  แต่ถ้าหลังจากใช้แล้วนำไปล้างให้สะอาดก็สามารถนำมาใช้ได้ ผู้ป่วยที่มีการรักษาอย่างต่อเนื่องควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำแล้วอย่างเช่นเม็ดเลือดขาวเหลือน้อยกว่า 200 ตัว จะมีการให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคฉวยโอกาส และมีการให้คำปรึกษาและตัดสินใจเริ่มให้ยาต้านไวรัสซึ่งปัจจุบันก็มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีราคาก็ถูกลงมาก  สามารถช่วยผู้ป่วยได้มาก  และที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องรับการรักษาให้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง   เนื่องจากในปัจจุบันยังรักษาไม่หายขาด คล้ายกับโรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูงแต่ว่าจะต่างกันตรงที่ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านไวรัสแล้ว  ถ้าหยุดยาไปอาจมีโอกาสทำให้เชื้อที่อยู่ในตัวเกิดดื้อยาขึ้นมาเมื่อไปรับประทานยาเดิมอาจไม่ได้ผล  ซึ่งเมื่อดื้อยาแล้วการรักษาต่อไปจะทำได้ยากมากและยากลุ่มอื่น ๆ ก็จะมีผลข้างเคียงมากขึ้น  ราคาก็แพงขึ้นประสิทธิภาพก็ด้อยลง
            นอกจากนี้อย่ารับประทานยาเองโดยไม่ได้รับการปรึกษาจากแพทย์  โดยเฉพาะยาสมุนไพรต่าง ๆ หรือยาที่ไม่รู้สรรพคุณเพราะมีบางรายที่รับประทานยาอื่นด้วยโดยที่ผู้ป่วยก็ไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร  เมื่อมาตรวจแล้วปรากฏว่าเป็นตับอักเสบ  ทำให้มีปัญหายุ่งยากในการรักษา  นอกจากนี้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรควัณโรคปอด  ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในผู้ป่วย HIV   ผู้ป่วยหลังจากรับประทานยาระยะหนึ่งแล้วก็จะหยุดยาเองเนื่องจากอาการดีขึ้น  ทั้งๆที่ยังไม่หาย  จึงต้องเน้นว่าต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอ และมีปัญหาอะไรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์
            สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอดส์นั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือให้ป้องกันอย่าไปรับเชื้อมาเพราะยังมีโอกาสติดเชื้ออื่นๆได้อีก  และพ่อแม่ผู้ปกครองคุณครูก็ควรช่วยกันดูแลเด็กในปกครองให้ดีเพื่อเลี่ยงต่อการเสี่ยงติดเชื้อเอดส์  สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจจะติดเชื้อ HIV    ในระยะที่เริ่มมีอาการบ้างแล้วจะพบอาการต่างๆคือมีฝ้าขาวเนื่องจากเป็นเชื้อราในปาก จะเห็นที่ลิ้นหรือในกระพุ้งแก้มว่าจะมีฝ้าขาวๆเป็นก้อนๆกลุ่มๆหนาๆซึ่งอาจจะมาขอคำปรึกษาเพื่อดูว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่  หรือมีน้ำหนักลดไปเรื่อยๆมีท้องเสียเรื้องรัง   มีไข้ไม่ทราบสาเหตุมี   ต่อมนำเหลืองโต  เหล่านี้ก็ควรมารับการปรึกษาจากแพทย์


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด