หูดหงอนไก่ “เรื่องใหญ่” กว่าที่คิด

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          หูดหงอนไก่ หมายถึงหูดที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ที่ผิวหนัง ส่วนมากเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อมะเร็ง เช่น HPV ชนิด 6, 11 โดยพบเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 90  รอยโรคบริเวณนี้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการต่างๆ ดังนี้ ก้อน คัน เลือดออก เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ผู้ป่วยหญิงจะมีรอยโรคมากกว่าผู้ป่วยชายถึง 5 เท่า  จึงทำให้ผู้ชายที่ติดเชื้อแต่อาการแสดงน้อยหรือไม่มีอาการ แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มาก การสัมผัสโดยตรงเป็นวิธีการถ่ายทอดเชื้อหลัก โดยการมีเพศสัมพันธ์เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด  อย่างไรก็ตาม การใช้สิ่งของร่วมกันที่สัมผัสกับบริเวณอวัยวะเพศก็สามารถเป็นวิธีการถ่ายทอดเชื้อได้ 

หูดหงอนไก่ไม่น่ากลัวจริงหรือไม่
          จากข้อมูลในโรงพยาบาลศิริราช การสำรวจผู้ป่วยที่กำลังมีรอยโรค 67 คน มากกว่าร้อยละ 80 กังวลกับการหายของรอยโรค การกลับเป็นซ้ำ และความมั่นใจในการกลับไปมีเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มผู้ป่วยที่รอยโรคหายแล้วจำนวน 215 คน มีเพียง 41 คนที่มีเพศสัมพันธ์ในเดือนที่ผ่านมา และจำนวนมากถึงร้อยละ 61.7 มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีปัญหาในเรื่องความต้องการทางเพศที่ลดลงมากที่สุดซึ่งเป็นผลจากการขาดความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง อีกการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบหูดหงอนไก่ในวันที่มาคลอดจำนวน 490 คน พบว่ามีความสัมพันธ์กับทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย  นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยหูดหงอนไก่ มักจะพบการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง (co-infection) ร่วมด้วย และผู้ป่วยหญิงที่มีหูดหงอนไก่ มีผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกผิดปกติระดับ LSIL+ สูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 16 เท่า        

การรักษาคนไข้หูดหงอนไก่ ทำอย่างไรบ้าง         
         วัตถุประสงค์ของการรักษาคือเพื่อทำลายรอยโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส  ซึ่งการรักษามักจำเป็นต้องทำซ้ำหลายครั้งและใช้เวลารักษานานหลายสัปดาห์ โรคนี้ยังเป็นโรคที่มีการกลับเป็นซ้ำได้บ่อย

         การรักษาหูดหงอนไก่ ได้แก่ การทำลายรอยโรคสามารถทำโดยการใช้สารเคมี ความเย็น(ไนโตรเจนเหลว) จี้ไฟฟ้าหรือการตัดออก และการเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายเพื่อให้สามารถกำจัดเชื้อไวรัส HPV ได้อย่างรวดเร็ว ทำโดยการรักษาโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้ดี และการทายากระตุ้นภูมิต้านทานเฉพาะที่ได้แก่ 5 % imiquimod   ระยะเวลาในการหายของโรค อาจยาวนานถึง 16 สัปดาห์ ซึ่งผลการรักษาจะแตกต่างไปตามความพร้อมและประสบการณ์ของแพทย์ผู้ดูแล

        การดูแลคู่เพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์เป็นความเสี่ยงที่สำคัญมรการติดเชื้อHPV ที่ก่อโรคหูดหงอนไก่ ไม่ว่าคู่เพศสัมพันธ์จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  การใส่ถุงยางอนามัยจะไม่สามารถป้องกันการถ่ายทอดเชื้อได้ทั้งหมด เนื่องจากมีบริเวณที่ติดเชื้ออยู่นอกบริเวณที่สวมถุงยาง  ดังนั้น คู่เพศสัมพันธ์มักได้รับเชื้อ HPV ชนิดเดียวกันแล้ว โดยแพทย์จะให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม  ให้การรักษาเมื่อปรากฎรอยโรค และแนะนำการฉีดวัคซีน HPV

ถ้าเคยเป็นหูดหงอนไก่มาแล้ว การได้รับวัคซีนจะสามารถช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่
         โดยทั่วไปการได้รับวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ HPV ตั้งแต่ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV และการเกิดรอยโรคตามมา  หากมีประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซีน HPV จะช่วยลดโอกาสการเกิดรอยโรค  และสำหรับผู้ที่เคยเป็นหูดหงอนไก่มาแล้ว วัคซีน HPV จะสามารถลดโอกาสการเกิดรอยโรคซ้ำได้

          ในปัจจุบันมีวัคซีน HPV ที่ป้องกันการเกิดรอยโรคหูดหงอนไก่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ และ วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนักอีกด้วย

บทสรุป
          โรคหูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคมสูง  การรักษาใช้เวลายาวนาน การป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อก่อโรคและการรับวัคซีน HPV


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด