รู้จักอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดในผู้สูงอายุ

นางสาวอนัญญา  ตรีวิสูตร นักจิตวิทยาคลินิก
คลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

        เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง มีภาวะโภชนาการที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญ ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีความชุกของภาวะขาดสารอาหารร้อยละ 5-10 และมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารถึงร้อยละ 42.6 ปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัจจัยทางสรีรวิทยา จิตวิทยา เศรษฐกิจและสังคม เช่น การเคี้ยวกลืนที่ลำบาก การเบื่ออาหาร ส่งผลให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง การมีโภชนาการที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากหากมีพฤติกรรมที่รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อภาวะขาดสารอาหารหรือการมีน้ำหนักตัวที่มากเกินได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา

        วันนี้ทางคลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สนใจ อาการเบื่ออาหารเมื่อก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ ความรู้ด้านอาหารเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรง มาฝากกันค่ะ

สาเหตุทางกายภาพ

        เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น มีความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อสำหรับการเคี้ยวอาหาร มีปัญหาสุขภาพฟัน เช่น ฟันหลุดหรือหัก และไม่ได้ใส่ฟันปลอม ทำให้การบดเบี้ยวอาหารให้ละเอียดเป็นไปได้ยากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านมีภาวะกลืนลำบาก มีอาการสำลักอาหารและน้ำบ่อย ๆ ความสามารถในการรับรสและกลิ่นลดลง รับรสได้ไม่เต็มที่ จนเบื่ออาหาร แม้ว่าอาหารนั้นจะเคยเป็นของที่ชอบแค่ไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง

สาเหตุทางจิตใจ

        ภาวะอารมณ์มีความสัมพันธ์ต่อความพึงพอใจในการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ เมื่อเกิดภาวะความเครียด หรือต้องรับประทานอาหารคนเดียว ก็เป็นสาเหตุอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร และรับประทานอาหารได้น้อยลง รวมถึงไม่มีข้อมูลรับรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการส่งผลให้ความพอใจในการรับประทานอาหารน้อยลงได้เช่นกัน

ปรับรูปแบบการรับประทานอาหาร

        1.การดัดแปลงอาหารและวิธีการปรุงจะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานได้ง่ายขึ้น โดยอาหารควรมีขนาดชิ้นเล็กเนื้อสัมผัสที่นิ่มเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อละเอียด และมีความชุ่มน้ำ เพื่อลดความเร็วในการกลืนจากปากลงสู่คอหอย ป้องกันการสำลักอาหาร และภาวะปอดอักเสบ เช่น การหั่นผลไม้และเนื้อสัตว์เป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ง่ายต่อการรับประทาน หรือรับประทานอาหารประเภทซุป โจ๊ก ข้าวต้ม จับฉ่าย  เป็นต้น

        2. รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและปรุงสุกใหม่ส่งผลให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น เน้นลวก ต้ม นึ่ง อบ จัดเมนูผัดและแกงกะทิ แต่พอควร เลี่ยงอาหารทอด ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด    

        3. ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องฟัน จึงส่งผลต่อการรับประทานอาหารและเคี้ยวอาหาร ดังนั้นการมีสุขภาพฟันที่ดีหรือการมีฟันปลอมที่พอดีกับช่องปากเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวและกลืนอาหารเป็นได้อย่างปลอดภัย

          แนวทางการดูแล ควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ นาน 2 นาที และไม่กินอาหาร หลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ ช่องปากทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี

พลังงานและโปรตีนสำคัญอย่างไรในผู้สูงอายุ                                   

          พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอจากอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สุงอายุ โดยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)  มีความต้องการพลังงาน 1,500-1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน จากการรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ ก็จะลดลงไปด้วย ประมาณ ร้อยละ 1.5 ต่อปี และลดลงเร็วขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังอายุ 65 ปี การเลือกรับประทานอาหาร ที่ให้พลังงานและโปรตีนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในผู้สูงอายุ

อาหารแนะนำ

          โปรตีน ผู้สูงอายุควรรับประทานโปรตีนวันละ 1.0-1.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือเนื้อสัตว์อย่างน้อย 6-8 ช้อนโต๊ะ/วัน โดยเลือกเป็นโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือหนัง ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเคี้ยวลำบากและย่อยยาก ดังนั้น อาจเลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา ผลิตภัณฑ์จากนม (นมพร่องมันเนย) เต้าหู้ ไข่ขาว  ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนได้แก่ ข้าว ถั่ว ซีเรียล ขนมปังโฮลวีท วิตามินเกลือแร่ นมพร่องมันเนย เต้าหู้ งา ผัก ปลาตัวเล็กตัวน้อย (ผลไม้ รสไม่หวานจัด วันละ 1-3 ส่วน โดยผลไม้ 1 ส่วน จะประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ) เส้นใยอาหาร ลูกพรุน แอปเปิ้ล ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช ใยอาหารสูงลดอาการท้องผูก  น้ำ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มขาดน้ำได้ ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6- 8 แก้วต่อวันให้เพียงพอต่อร่างกาย ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือโซดา เพราะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น               

ข้อควรระวัง

        การที่รับประทานอาหารน้อยลง มีผลให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุไทย 

ข้อแนะนำ

        การรับประทานอาหารภายในครอบครัวประจำ อาจช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเบื่อ มีความสดชื่น สดใส และหากเป็นไปได้ควรรับประทานอาหารด้วยกันทุกวัน หรือ หากมีผู้ดูแลอยู่ด้วย อาจให้ผู้ดูแลรับประทานอาหารพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้ท่านไม่รู้สึกเหงา

        เมื่อพบว่าผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ควรค้นหาสาเหตุก่อนว่ามาจากเรื่องใด เช่น จากยาที่รักษาโรคประจำตัวซึ่งรับประทานอยู่เป็นประจำ หรือ ปัญหาจากร่างกาย จิตใจ หากอาการเบื่ออาหารยังไม่ดีขึ้น ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินปัญหา ให้การวินิจฉัยถึงสาเหตุ   วางแผนกําหนดกิจกรรมการ ดําเนินการปฏิบัติ และปรับเป้าหมายในการดูแลตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เหมาะสม

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

  1.  วีรศักดิ์ เมืองไพศาล. รู้จริงและเข้าใจ สุขภาพผู้สูงวัยและภาวะสมองเสื่อม. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2559.
  2. สุนทรี ภานุทัต. การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพโภชนาการ. Journal of Ratchathani Innovative Health Sciences : Vol.1 No.1 April-June 2017  
  3. Chuansangeam M.et al. Prevalence and risk for malnutrition in older Thai people: A systematic review and meta-analysis.   Asia Pac J Clin Nutr 2022;31(1):128-14.
  4. ปทิดา สังข์ทอง.นักกำหนดอาหาร.ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Skelton DA,  Mavroeidi A. How do muscle and bone strengthening and balance activities (MBSBA) vary across the life course, and are there particular ages where MBSBA are most important? J Frailty Sarcopenia Falls. 2018 Jun 1;3(2):74-84.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด