เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัดนก

โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลศิริราช

ไข้หวัดนกคืออะไร
         
ไข้หวัดนกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิดหนึ่งโดยมีสัตว์ปีกที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นรังโรค เช่น นกน้ำป่า นกเป็ดน้ำ ห่าน นกตามป่าชายเลน เป็นต้น เมื่อสัตว์ปีกเหล่านี้ติดเชื้อจะเกิดอาการค่อนข้างน้อยหรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่โรคให้กับสัตว์ปีกอื่น ๆ ที่เลี้ยงใกล้ชิดกับคนหรือเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคได้ เช่น เป็ด ไก่ ไก่งวง รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู พังพอน แมว เสือ และสุนัข ส่วนมากเชื้อจะติดต่อสู่คนได้ยาก ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีประวัติทำงานเกี่ยวกับสัตว์ เช่น ทำฟาร์ม หรือปศุสัตว์ มีรายงานพบการติดต่อระหว่างคนสู่คนในครอบครัวได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม อัตราป่วยตายในคนจากการติดเชื้อสายพันธุ์ H5N1 สูงถึงร้อยละ 53

ลักษณะและอาการของโรค
         
ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งมีอาการ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงอาการปอดอักเสบรุนแรง โดยมีอาการ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ตาแดง และหอบเหนื่อยหายใจลำบาก

ป้องกันได้อย่างไร
            เชื้อไข้หวัดนกสามารถผ่านออกมาทางน้ำมูก น้ำลาย และมูลสัตว์ที่ติดเชื้อ การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คนสามารถปฎิบัติดังนี้

            1. หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีการระบาดของไข้หวัดนก หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกมีชีวิต ควรสวมเครื่องป้องกันร่างกายอย่างมิดชิด เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา หมวก และรองเท้าบูท
            2. ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ และทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก
            3. หากพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันที พร้อมทั้งสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด
            4. รับประทานสัตว์ปีกที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึง

ติดตามสถานการณ์ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือ 02-5903000
แหล่งข้อมูลอ้างอิง กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด