เมื่อลูกรักของคุณนอนกรน

เมื่อลูกรักของคุณนอนกรน


ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


อาการนอนกรน
            เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในคนปกติ ซึ่งมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน ผนังคอหนา เนื้อเยื่อในช่องคอหย่อนตัวขณะนอนหลับ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในเด็กอาจจะเกิดจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น (obstructive sleep disturbance) ในส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ โดยเด็กจะมีอาการดังต่อไปนี้
          
- นอนอ้าปาก หายใจเสียงดัง
             - ดิ้นกระสับกระส่าย หลับไม่สนิทสลับกับเสียงหายใจดังเฮือก ๆ หรือต้องลุกนั่งเพราะหายใจไม่ออก
             - ชอบนอนตะแคงหรือคว่ำมากกว่านอนหงาย
             - หยุดหายใจเป็นพัก ๆ ครั้งละ 5-10 วินาทีแล้วตื่น หรือพลิกตัวเปลี่ยนท่า

อาการหายใจลำบากตอนกลางคืนในเด็กอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
           1.  มีสิ่งอุดตันในจมูก เช่น จมูกบวมจากโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือมีต่อมแอดรีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองด้านหลังโพรงจมูกมีการอักเสบและโตผิดปกติ หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ในจมูก
           2.  มีสิ่งอุดกั้นในช่องคอที่พบบ่อยคือต่อมทอนซิลโตผิดปกติ เด็กที่อ้วนเกินขนาด จะมีผนังคอหนามากขึ้นจะทำให้ช่องคอแคบ เวลานอนจะหายใจลำบาก มีเสียงดังหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ในช่องคอและกระดูกใบหน้า
           3.  มีความผิดปกติของกล่องเสียงและหลอดลม
 
การอักเสบของต่อมทอนซิลและต่อมแอรีนอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กที่นอนกรนและหายใจลำบาก ซึ่งจะมีอาการอื่น ๆ ให้สังเกตได้ดังต่อไปนี้
           - มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง ชอบสูดน้ำมูกลงคอบ่อย ๆ หรือมีเสียงเสมหะครืดคราดในคอ
           - เจ็บคอ หรือทอนซิลเป็นหนองบ่อย ๆ
           - พูดไม่ชัด เสียงอู้อี้
           เมื่อเด็กมีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ควรนำพบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของการนอนกรน จากภาวะหายใจลำบากและเพื่อรับการรักษา

การรักษาอาจประกอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีดังต่อไปนี้
           1. ให้ยาปฏิชีวนะถ้าสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อของต่อมทอนซิล หรือต่อมแอดรีนอยด์ หรือไซนัสอักเสบ
           2.  ยาละลายเสมหะ ยาพ่นจมูกและล้างจมูก ในรายที่มีการอักเสบของต่อมแอดรีนอยด์หรือไซนัส
           3.  รักษาโรคภูมิแพ้ที่อาจเกิดร่วมด้วย
           4.  ลดน้ำหนักในเด็กที่อ้วนมากผิดปกติ
           5.  ทำการผ่าตัดรักษาความผิดปกติต่าง ๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหู คอ จมูก เมื่อมีข้อบ่งชี้

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด