มารู้จักไซนัสอักเสบในเด็ก
มารู้จักไซนัสอักเสบในเด็กและวิธีรักษาที่ถูกต้องกันเถอะ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ไซนัสคืออะไร
ไซนัสเป็นโพรงอากาศในกะโหลก ซึ่งพบได้ที่หัวคิ้วขอบจมูกและโหนกแก้ม หน้าที่ปกติของโพรงไซนัสไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่อาจทำให้กะโหลกเบา เสียงก้อง สร้างเมือกและภูมิคุ้มกันให้กับโพรงจมูก โดยปกติเมือกโพรงไซนัสจะไหลเข้าสู่โพรงจมูก ผ่านช่องเล็ก ๆ (Ostium) ที่ผนังข้างจมูกเพื่อใช้ในการต่อสู้เชื้อโรคและระบายสิ่งแปลกปลอมจากจมูกลงสู่ลำคอ หรือออกทางจมูก
การเกิดไซนัสอักเสบ
เมื่อจมูกเกิดอาการบวม เช่น เป็นหวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก จะทำให้ช่องติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกดังกล่าวอุดตันและเกิดคั่งค้างของน้ำเมือกในโพรงไซนัส และเมื่อเชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่โพรงไซนัสได้ก็จะแบ่งตัว และทำให้เกิดการติดเชื้อของโพรงไซนัสและมีหนองเกิดขึ้น ทำให้จมูกบวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกว่าเกิดโรคไซนัสอักเสบ อาการของโรคไซนัสอักเสบอาจแตกต่างกันระหว่างในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียได้มากกว่าในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมักไม่ค่อยมีอาการดังกล่าว เมื่อช่อง (Ostia) ที่ติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกเปิดออกเป็นครั้งคราว หนองและเมือกจากโพรงไซนัสก็จะไหลลงสู่จมูกและคอทำให้เด็กเกิดอาการดังนี้
น้ำมูกไหลโดยสีของน้ำมูกอาจเป็นสีเขียว เหลือง หรือขาวเป็นมูก
ไอ เพราะเมือกหรือหนองไหลลงคอ กระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยเฉพาะตอนนอนในกลางคืน
ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ ประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการคือ
1. การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ)
2. การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด
3. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
1. การให้ยาฆ่าเชื้อโรค (ยาปฏิชีวนะ = ยาแก้อักเสบ) แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ยาเหล่านี้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน ระยะเวลาในการใช้ยาจะนานกว่าการรักษาการติดเชื้อของระบบหายใจตามปกติ อาจจะให้นานถึง 3-6 สัปดาห์ ตามที่แพทย์จะแนะนำ ซึ่งจะต้องรักษาจนหนองหมดไปจากโพรงไซนัส
2. การทำโพรงจมูกที่บวมให้ยุบลง เพื่อให้หนองในโพรงไซนัสไหลถ่ายเทออกมาให้หมด การทำให้โพรงจมูกลดบวมทำได้โดย การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ การใช้ยาพ่นจมูก การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทำได้ง่าย ๆ โดย
- หาซื้อน้ำเกลือหรืออาจผสมขึ้นเองง่าย ๆ โดยใช้น้ำสะอาด 750 cc. ผสมกับเกลือสะอาด 1 ช้อนช้า หรืออาจใช้ 0.9% normal saline ที่ไม่มีน้ำตาลผสมอยู่
- เทน้ำเกลือลงในแก้วสะอาด
- ดูดน้ำเกลือจากแก้วสะอาดเข้าในลูกยางหรือหลอดฉีดยา (Syringe)
- พ่นน้ำเกลือจากลูกยางหรือหลอดฉีดยาเข้าในจมูกในท่าก้มหน้า กลั้นหายใจในระหว่างฉีดน้ำเกลือเข้าสู่จมูก
- ทำซ้ำจนน้ำมูกหมด ปฏิบัติวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำแนะนำของแพทย์
- บางครั้งแพทย์อาจสั่งยาพ่นจมูก หรือยาล้างจมูกให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
3. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบจำนวนหนึ่ง (อาจถึงร้อยละ 50) อาจจะมีอาการของโรคไซนัสอักเสบที่เนื่องมากจากโรคภูมิแพ้ของจมูก ซึ่งจะทำให้จมูกบวมและมีอาการติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงสารแพ้จากไรฝุ่นตามคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ควันบุหรี่ การติดเชื้อจากคนรอบข้าง การอยู่ในที่แออัด การว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ
การติดตามผลการรักษา
เป็นสิ่งที่สำคัญมากผู้ป่วยควรจะต้องมารับการประเมินผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง