โรคหืด

โรคหืด

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์  เจียรกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคหืดเป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด ไอและแน่นหน้าอก โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด 
            โรคหืดนี้ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค เชื่อว่าเป็นผลประกอบกันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับพื้นฐานภาวะภูมิแพ้ของแต่ละบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะทางพันธุกรรม  การค้นหา ควบคุมและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง    เป็นส่วนที่สำคัญมากในการดูแลรักษาโรคหืด เช่น สิ่งกระตุ้นในอาคารบ้านเรือน ได้แก่ ตัวไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ แมลงสาบและเชื้อรา สิ่งกระตุ้นนอกอาคาร ได้แก่ มลภาวะ ละอองเกสรพืช  ควันบุหรี่ สารเคมีในอาหาร การออกกำลังกาย สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพ และสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ได้แก่ ไข้หวัดหรือยาบางอย่าง  เช่น  แอสไพริน
พบโรคหืดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  ในผู้ใหญ่ โรคหืดก่อให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิต อาการของโรคจะรบกวนการนอน ทำให้สรรถภาพการทำงานถดถอย อาการแน่นหน้าอกอาจทำให้ผู้ป่วยตกใจ ด้วยเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจ  สำหรับในเด็ก พบในเด็กวัยเรียนถึงร้อยละ 12  โรคหืดทำให้ขาดเรียนบ่อย ลดความสามารถในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติและอาจเกิดปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้   หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน
            การวินิจฉัยและการรักษา แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอดซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค ข้อมูลจากการทดสอบจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้เหมาะสม ในรายที่อาการหรือการตรวจพบไม่ชัดเจน แพทย์จะทดสอบสมรรถภาพปอดก่อนและหลังการให้สารกระตุ้นหลอดลม โรคหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาและควบคุมโรคให้ดีได้  คือ ควบคุมอาการให้สงบทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุขและมีสมรรถภาพปอดในระยะยาวให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
            การใช้ยารักษาจะเป็นไปอย่างมีขั้นตอน โดยมีขนาดและจำนวนยาที่ใช้มากน้อยตามความรุนแรงของโรค   การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำเป็นการช่วยฝึกควบคุมการหายใจให้ดี พร้อมกับมีการออกกำลังกล้ามเนื้อด้วย ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และระมัดระวังอาหารบางอย่างที่กระตุ้นการจับหืด เช่น อาหารทะเล ยาที่ใช้รักษาโรค มี 2 ประเภท คือ ยาควบคุมหรือยาป้องกัน ออกฤทธิ์ในการควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดอาการเฉียบพลัน โดยลดและควบคุมการอักเสบในหลอดลม ซึ่งมีผลในการลดความไวผิดปกติของทางเดินหายใจต่อสิ่งกกระตุ้นผู้ป่วยต้องใช้สม่ำเสมอและในขนาดที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์  ยาบรรเทาอาการ  ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม  ช่วยบรรเทาอาการหอบ  มีคุณสมบัติทำให้ลดการตีบตัวของหลอดลมในระหว่างที่มีการจับหืดเฉียบพลัน  จึงควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น  วิธีการใช้ยาที่ดีที่สุด  คือ  การสูดเข้าทางปาก ซึ่งต้องคอยฝึกหัดและตรวจสอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ

  


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด