การดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ตอนที่ 2

การดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (ตอนที่ 2)

อ.นพ. อรรถพงศ์ วงศ์วิวัฒน์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ป่วยที่มีไตวายเรื้อรังสามารถเปลี่ยนไตได้หรือไม่
           ปัจจุบันการรักษาโดยการเปลี่ยนไต ทางการแพทย์เรียกว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตก็เป็นการรักษาโดยการนำไตของผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว ลักษณะของไตที่บริจาคโดยผู้ป่วยเสียชีวิตจากสมองตาย หรือจะเป็นไตจากผู้มีชีวิตอยู่ เช่น ญาติ พี่น้อง พ่อแม่ นำไต 1 ข้าง ของผู้บริจาคมาใส่ในผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรัง เพื่อที่จะให้ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสีย อย่างไรก็แล้วแต่การผ่าตัดปลูกถ่ายไตก็มีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ปัจจุบันมีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ต้องการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องมาขอคำปรึกษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางโรคไตก่อนว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะผ่าตัด

โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
           โรคไตวายเรื้อรังจะทำให้เนื้อไตนั้นเสื่อมไปแล้วแต่ก็ไม่ได้เป็นทั้งหมด จะยังมีบางส่วนที่ทำหน้าที่อยู่ได้ การรักษาโรคไตวายเรื่อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ไตที่เสื่อมสภาพไปอย่างเรื้อรังและถาวรแล้วก็จะไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก การรักษาดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น การล้างไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมล้วนแต่เป็นการรักษาที่นำเอาของเสียในเลือดออกเพื่อให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การดูแลตนเองของผู้ป่วยควรทำอย่างไร
           การดูแลตนเองของผู้ป่วย ที่อาจจะเน้นในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นไตวายในระยะต้น การดูแลตนเองที่ดีจะช่วยให้โรคไตของท่านเสื่อมสมรรถภาพอย่างช้า การพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เป็นหัวใจสำคัญ ส่วนเรื่องของอาหารเค็ม จะขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน เช่น คนไข้บางคนอาจจะรับประทานเค็มได้ คนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง มีอาการบวมก็จะต้องงดอาหารเค็ม ถ้าท่านพบว่าเป็นโรคบางชนิดที่มีโอกาสไตวายเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้ การรับประทานอาหารโปรตีนที่น้อยลง การไม่ซื้อยารับประทานเอง จะช่วยให้ไตของท่านเสื่อมสภาพได้ช้าที่สุด

วิธีการป้องกันภาวะไตวายเรื้อรัง
           จริง ๆ แล้ว วิธีป้องกันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลตนเองให้ปลอดจากโรคไต โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้น ควรจะสังเกตตนเองว่าจะเริ่มเป็นโรคไตหรือไม่ อาการที่พบบ่อยของผู้ป่วยที่เริ่มจะเป็นโรคไต เช่น ท่านมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟองมาก ปัสสาวะบ่อย หรือมีเศษกรวดหรือทรายปนออกมา ก็อาจจะพบว่ามีนิ่วอยู่ในไต มีอาการบวมผิดปกติ ตื่นขึ้นมามีอาการบวมบริเวณหน้าตาหรือมีอาการปวดหลัง ถ้าท่านไม่แน่ใจควรจะรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคไตที่เป็นในระยะแรกนั้นเรื้อรังจนเกิดโรคไตวายเรื้อรัง ที่สำคัญอีกเรื่องคือ หลีกเลี่ยงการใช้ยา ซึ่งอาจจะมีผลเสียต่อไต การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาแก้ปวดติดต่อกันนาน ๆ อาจจะทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง สำหรับท่านที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่า 2 โรคนี้ พบบ่อยว่าในระยะยาว ถ้าท่านรักษาโรคเบาหวานหรือโรความดันโลหิตสูงไม่ถูกต้อง ซื้อยารับประทานเอง หรือไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากแพทย์นั้น จะมีผลแทรกซ้อน ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังได้
สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด และขอเน้นว่า โรคไตกับโรคไตวายเรื้อรัง ไม่เหมือนกัน บางคนเข้าใจว่า เมื่อเป็นโรคไตแล้ว ตนเองก็จะเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อท่านทราบว่า ท่านเป็นโรคไตก็อย่าพึ่งตกใจ สอบถามให้แน่ชัดกับแพทย์ที่ท่านรักษาด้วย ว่าท่านเป็นโรคไตชนิดใด โรคไตนั้นมีมากมากหลายชนิด บางอย่างรักษาหายขาด บางอย่างจะต้องติดตามการรักษาไปโดยตลอด ไม่จำเป็นว่าเป็นโรคไตแล้วจะเป็นไตวายเรื้อรังเสมอไป

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด