การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ศ.คลินิก นพ.สมชาย เนื่องตัน
ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            มะเร็งปากมดลูก สุภาพสตรีหลายท่านคงรู้จักกันดีว่าเป็นโรคร้ายที่คุณผู้หญิงหลายคนหวาดกลัว ส่วนมากพบในสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงวัยหมดระดู สตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติเคยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือมีคู่นอนหลายคน นอกจากนี้ยังเกิดกับผู้ที่มีบุตรมาก ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีประวัติกามโรค แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสเกิดโรคนี้น้อยมาก

สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก
            สำหรับสาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากผลการศึกษาในอดีตพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมีประวัติการติดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริม (Herpes Virus type 2) มาก่อน จากการศึกษาระยะหลังพบว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ (Human Papilloma Virus) บางสายพันธุ์น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญของการก่อมะเร็งปากมดลูก และยังพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะไม่ลุกลามจะมีการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้มาก่อน และจากการศึกษามะเร็งปากมดลุกระยะลุกลามพบว่าร้อยละ 62 มีอนุภาคของไวรัสชนิดนี้ปรากฏอยู่ในเนื้อมะเร็ง

ถ้าจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้องทำอย่างไร
            จากหลักฐานและข้อมูลพื้นฐาน พบว่ามะเร็งปากมดลูกจะพบได้บ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ต่าง ๆ ก็จะสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญต่อการตรวจค้น คัดกรองมะเร็งระยะแรกเริ่ม ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกชนิดลุกลามไปได้มาก

มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดจริงหรือไม่
            มะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะก่อนลุกลาม สามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนมะเร็งระยะลุกลามในขั้นต้น ๆ พบว่ามากกว่าร้อยละ 85 สามารถรักษาให้หายขาดได้

ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมีอาการอย่างไรบ้าง
            โดยปกติ ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกชนิดก่อนลุกลามส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาเลย ในบางรายอาจมีตกขาวมากกว่าปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจภายใน และรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากสถานพยาบาลต่าง ๆ สำหรับผู้ที่สมควรได้รับการตรวจ คือ สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยควรรับการตรวจปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรรับการตรวจเมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกชนิดลุกลาม จะมีอาการ เช่น ตกขาวมาก บางครั้งอาจมีกลิ่น และมีเลือดออกกะปริบกะปรอย นอกจากนี้อาจมีเลือดออกภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีความยุ่งยากหรือไม่ อย่างไร
            ปัจจุบันการตรวจมีความสะดวก รวดเร็ว ไม่เจ็บปวด ค่าใช้จ่ายไม่แพง และยังเปิดบริการทั้งในโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนทั่วประเทศเพราะถือเป็นการตรวจสุขภาพอย่างหนึ่ง และภายหลังจากที่ตรวจแล้วควรติดตามผลอยู่เสมอ และหมั่นไปพบแพทย์เมื่อถึงเวลานัด
ความผิดปกติที่ปากมดลูกที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น สามารถตรวจสอบได้ง่ายตั้งแต่ระยะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ เลย ถ้าเราพบความผิดปกติในระยะนี้ก็จะสามารถรักษาจนหายขาดได้ด้วยวิธีที่ไม่ยุ่งยาก และปลอดภัย

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด