บทบาทของเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง

"บทบาทของเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง"

ผศ.นพ.วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต
ภาควิชาอายุรศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หากจะเอ่ยถึงโรคที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศไทยคงไม่มีใครปฏิเสธว่า "โรคมะเร็ง" เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต รองลงมาจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุ ประชาชนทั่วไปต่างหวาดกลัวว่าเมื่อเป็นมะเร็งแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความจริงแล้วเมื่อผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นวิธีผ่าตัด การใช้รังสีรักษา การใช้เคมีบำบัด หรือการใช้วิทยาอิมมูโน ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะใช้วิธีการรักษาโรคมะเร็งร่วมกันมากกว่าเพียงวิธีเดียว แต่โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่ออาการของโรคเริ่มรุกลามไปมากแล้ว ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คุณสมบัติของเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง คือ สารเคมีจะเข้าไปออกฤทธิ์ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงบรรเทาอาการทุกข์ทรมานเนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันสารเคมีก็มีผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์ในไขกระดูก เซลล์ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์และรากขุมขน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเซลล์เหล่านี้จะสามารถฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้เมื่อหยุดการบำบัด

บทบาทของเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง แบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ
1. การรักษาเพื่อมุ่งให้หายขาด โดยมีวงจำกัดอยู่เฉพาะมะเร็งบางชนิด และบางระยะของโรคเท่านั้น
     1.1 ใช้เคมีบำบัดรักษาเพียงอย่างเดียว เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งลูกอัณฑะ เป็นต้น
     1.2 ใช้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด ได้แก่
- การใช้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือสามารถเก็บอวัยวะบางอย่างไว้ได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งกระดูก เป็นต้น
- การใช้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัดเพื่อให้มีโอกาสหายมากขึ้น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระดูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
     1.3 ใช้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา โดยแบ่งเป็น 3 แบบ คือ ใช้เคมีบำบัดก่อนให้รังสีรักษา การใช้เคมีบำบัดพร้อม ๆ กับการใช้รังสีรักษา และใช้เคมีบำบัดหลังการให้รังสีรักษา
2. การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ใช้ในกรณีที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายเป็นส่วนใหญ่ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการยืดอายุผู้ป่วยให้สบายขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

ผลข้างเคียงและอาการพิษของเคมีบำบัด (ยาเคมีบำบัดแต่ละตัวไม่จำเป็นต้องมีผลข้างเคียงเหมือนกัน)
1. พิษต่อไขกระดูก ยาจะไปกดไขกระดูกทำให้การสร้างเม็ดเลือดผิดปกติ เลือดจาง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อ
2. พิษต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้ผนังหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจขาดเลือดมาเลี้ยงบางส่วน
3. พิษต่อระบบหายใจ อาจทำให้ทางเดินหายใจและเนื้อเยื่อปอดอักเสบ
4. พิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจส่งผลกระทบต่อการอักเสบตลอดทางเดินอาหารจากปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไปจนถึงทวารหนัก นอกจากนี้การอักเสบอาจเกิดเป็นแผล มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเดิน พิษต่อตับและตับอักเสบได้
5. พิษต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการอักเสบ ปัสสาวะเป็นเลือด เนื้อไตเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจเกิดไตวายชนิดเฉียบพลัน
6. พิษต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้บริเวณปลายประสาทเกิดการอักเสบ ปลายมือและปลายเท้าเกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย และเมื่อพิษซึมเข้าสู่ประสาทส่วนกลางจะมีอาการซึมและชัก
7. พิษต่อระบบสืบพันธุ์ จะส่งผลไปกดการทำงานของอัณฑะและรังไข่ ประจำเดือนอาจหายไประยะเวลาหนึ่งรวมถึงเป็นหมันชั่วคราว สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ทำให้แท้งและคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้ทารกพิการได้ ด้วยเหตุนี้จึงห้ามหญิงมีครรภ์รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก
8. พิษต่อผิวหนัง ทำให้ผิวหยาบ มีสีคล้ำ ผมและขนร่วง
9. พิษต่อหู ทำให้หูอื้อ หูหนวก
10. พิษเฉพาะที่ ซึ่งเคมีบำบัดชนิดที่ระคายเคืองต่อหลอดเลือดอาจเกิดการอักเสบ และถ้าออกนอกเส้นเลือดอาจทำให้เนื้อเยื่อตาย และเป็นแผลได้
11. พิษทั่ว ๆ ไป จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวหรือปวดข้อ มีไข้ เป็นต้น
12. กดการสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างายมีภูมิต้านทานต่ำ

หลัก 7 ประการ ลดการเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเชื้อรา
2. ลดอาหารที่มีไขมันสูง
3. ลดการรับประทานอาหารประเภทดองเค็ม ปิ้งย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรท-ไนไตรท์
4. ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
5. งดสูบบุหรี่
6. ลดการดื่มแอลกอฮอล์
7. หลีกเลี่ยงแสงแดดที่จัด ๆ
            จะเห็นได้ว่าการใช้เคมีบำบัดสามารถให้การรักษาที่ค่อนข้างได้ผลดี แต่ในขณะเดียวกันร่างกายต้องได้รับผลข้างเคียงซึ่งบางครั้งค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเพื่อรักษาได้ทันท่วงที แต่สิ่งสำคัญที่เราควรยึดถือและปฏิบัติอยู่เสมอคือ สร้างนิสัยในการดำเนินชีวิตที่จะทำให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด