โรคธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมีย

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรวรรณ ตันไพจิตร
สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภ.กุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่งที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทำให้เกิดอาการซีด (โลหิตจาง) โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (รับยีนธาลัสซีเมีย) มาจากทั้งบิดาและมารดาและจะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรม (ยีน) นี้ไปสู่ลูกหลานต่อไปได้

ธาลัสซีเมีย มี 2 แบบ คือ
           1. เป็นพาหะ มียีนธาลัสซีเมียเพียง 1 ยีน ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ พาหะไม่มีอาการและมีสุขภาพแข็งแรง แต่สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือดวิธีพิเศษทางห้องปฏิบัติการ
           2. เป็นโรค โดยรับยีนธาลัสซีเมียมาจากทั้งพ่อและแม่ ทำให้แสดงอาการของโรค

ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย มีอาการมากน้อยต่างกันคือ
           - ชนิดรุนแรงที่สุด ทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือหลังคลอดไม่นาน
           - ชนิดรุนแรง แรกเกิดไม่มีอาการ จะสังเกตเห็นอาการซีด เมื่ออายุประมาณ 3 - 6 เดือน อาการสำคัญ คือ ซีด อ่อนเพลีย ท้องป่อง ม้ามโต ตับโต ตัวเล็ก เติบโตไม่สมอายุ มักซีดมากจนต้องได้รับเลือดเป็นประจำ
           - ชนิดปานกลางและชนิดรุนแรงน้อย ตับม้ามโตไม่มาก ซีดไม่มากแต่เมื่อมีไข้จะซีดลง

การดูแลผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลและปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพอาการของโรคดังนี้
           1. รักษาความสะอาดของร่างกาย ปาก ฟัน เนื่องจากผู้ป่วยจะมีร่างกายอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย และควรไปตรวจฟันกับทันตแพทย์ ทุก 6 เดือน เพราะฟันจะผุง่าย
           2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม และถั่วต่าง ๆ ควรรับประทานพืชผักใบเขียวซึ่งมีวิตามินโฟเลทสูงด้วย เนื่องจากผู้ป่วยต้องการสารอาหาร วิตามินและพลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง (ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ หัวใจ เลือดหมู เลือดไก่ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนจากการมีธาตุเหล็กมากเกินความต้องการของร่างกาย เพราะผู้
ป่วยธาลัสซีเมียมีธาตุเหล็กสูงในร่างกายอยู่แล้ว)
           3. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
           4. ไม่ควรเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยๆ เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง
           5. เมื่อมีไข้ ควรเช็ดตัวลดไข้ และให้ดื่มน้ำมากๆ ถ้าไข้สูงมากควรรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลและรีบไปพบแพทย์แม้จะไม่ใช่วันนัด เพราะไข้อาจเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้ซีดลงมากหรือก่อปัญหารุนแรงได้
           6. ป้องกันอุบัติเหตุที่จะทำให้เสียเลือด หรือกระดูกหัก เพราะผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียมีภาวะซีดและกระดูกจะเปราะหักง่าย ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย และควรระวังการถูกกระแทกที่บริเวณท้องเพราะจะเป็นอันตรายต่อตับและม้ามที่โตได้
           7. ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในภาวะเจ็บป่วยควรดูแลให้ได้พักผ่อนมากกว่าเดิม
           8. ให้ความรักเอาใจใส่ ให้กำลังใจ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่ท้อแท้ต่อการเจ็บป่วย

ใครบ้างที่อาจเป็นพาหะ
           ประชาชนไทยเป็นพาหะมากถึงร้อยละ 35 ถ้ามีญาติเป็นธาลัสซีเมีย อัตราเสี่ยงที่จะเป็นพาหะจะยิ่งมากขึ้น สามีภรรยาที่เป็นพาหะทั้งคู่อาจมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียได้

โรคธาลัสซีเมียป้องกันได้โดย
           1. ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดก่อนสมรส หรืออย่างช้าก่อนมีบุตร ว่าตนเป็นพาหะหรือไม่
           2. ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่าปกติหรือไม่
           3. ควรแนะนำให้ญาติ พี่น้อง ไปตรวจเลือด โดยวิธีพิเศษว่าเป็นพาหะหรือไม่ และปรึกษาแพทย์ก่อนสมรส เพื่อวางแผนครอบครัวอย่างเหมาะสมต่อไป

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด