อาการนอนกรน (Snoring) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea) ตอนที่ 1

อาการนอนกรน (Snoring) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ตอนที่ 1

รศ.นพ.ปารยะ   อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            อาการนอนกรน (snoring) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นปัญหาและโรคของการนอนหลับที่พบบ่อย ในคนอายุ 30-35 ปี  พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของเพศชาย และร้อยละ 5 ของเพศหญิง จะมีอาการนอนกรน  และเมื่ออายุมากขึ้น  อุบัติการของอาการนอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ  ส่วนภาวะหยุดหายใจขณะหลับพบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ  ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือเมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ไม่เต็มที่นัก  เนื่องจากมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน  และในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ   เนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถ และขณะทำงานกับเครื่องจักรกล นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ,โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนั้น (primary snoring) ถึงแม้ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของตนเอง  แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน, บุคคลอื่นๆ ในครอบครัว, เพื่อนบ้าน, หรือเพื่อนร่วมงาน เช่น ทำให้ผู้อื่นนอนหลับยาก หรืออาจมากจนกระทั่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าวได้ เช่น อาจทำให้เกิดการหย่าร้างของคู่สามีภรรยา ดังนั้นผู้ที่มีอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

เสียงกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร
            เสียงของการกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง  ซึ่งมักเกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน (soft palate), ลิ้นไก่ (uvula), ผนังคอหอย (pharyngeal wall) หรือโคนลิ้น (tongue base) เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณดังกล่าวเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น   นอกจากนั้นพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (alcohol) การกินยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดง่วง ก็จะช่วยเสริมทำให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัวมากขึ้น และอาจมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเสียงกรนดังขึ้น

สาเหตุของอาการนอนกรน
            นอกจากเกิดจากการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังพบว่าเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ (adenoid) ที่โต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนาทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก หรือซีสต์ (cyst) ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน การที่มีโพรงจมูกอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี เช่นอาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก, เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกริดสีดวงจมูกไซนัสอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน ดังนั้นอาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องปกติ  ในทางตรงกันข้ามเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร
            ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่ และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่

ท่านควรมาปรึกษาแพทย์เมื่อไร
            อาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่เมื่อใดที่อาการนอนกรนทำให้เกิดปัญหาต่อคู่นอน สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน หรือมีผลต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องมาปรึกษาแพทย์
            เมื่ออาการนอนกรนเกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ เพราะการที่แพทย์สามารถตรวจหาสาเหตุของโรคและพิจารณาวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับอวัยวะและระบบต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้  ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

           • ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ  รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน  ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หงุดหงิด  อารมณ์เสียง่าย
           • มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวัน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน, เข้าห้องเรียน, เข้าฟังประชุม, ขณะขับขี่รถ หรือขณะอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์  โทรทัศน์
           • นอนหลับไม่ราบรื่น ฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ   นอนกระสับกระส่ายมาก
           • มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ  อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
           • มีอาการสะดุ้งผวา หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
           • ในเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ หรือ อาจไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน (attention deficit disorder) หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดเวลา  หรือมีปัสสาวะราดในเวลากลางคืน
           • มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
           • ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง, ขาดสมาธิ,
พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา และความจำแย่ลง
           • สมรรถภาพทางเพศลดลง

-มีต่อตอนที่ 2-


 

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด