ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

รศ.นพ.อดุลย์  รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            เวลาเราพบว่ามีก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอและโตขึ้น มักจะได้ยินคนบอกว่า เป็นโรคไทรอยด์ บ่อยๆ แต่บางครั้งก็ได้ยินหมอบอกว่า เป็นคอหอยพอก  บ้าง เนื้องอกไทรอยด์บ้าง เลยไม่รู้ว่า  เป็นโรคไทรอยด์ หรือ โรคอื่นกันแน่  อันที่จริง ไทรอยด์ เป็นชื่อของอวัยวะ ขณะที่ คอพอก เนื้องอก หรือ มะเร็ง เป็นชื่อโรค บังเอิญยังมีโรคบางโรคที่มีชื่อของไทรอยด์เข้าไปปนอยู่ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เลยทำให้บางครั้งเกิดความสับสนว่า ไทรอยด์เป็นชื่อโรค คือ โรคไทรอยด์ อันที่จริงจะเรียกว่าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ ก็ได้ แต่ในการวินิจฉัย และ ดูแลโรคของต่อมไทรอยด์ จำเป็นต้องระบุให้ชัดว่า เป็นโรคอะไรของต่อมไทรอยด์ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์
            ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อผิดปกติจะโตขึ้น และ เห็นเป็นก้อน บางครั้งก็เห็นเป็นก้อนเดี่ยวๆ บางครั้ง ก็โตเป็นลักษณะหลายๆก้อนติดกัน แต่ที่สำคัญคือ ก้อนที่เกิดบนต่อมไทรอยด์ จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลง เวลาเรากลืนน้ำลาย

ไทรอยด์เป็นพิษ และไม่เป็นพิษ
            ต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น จะมีโรคอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่เป็นพิษ และ ไม่เป็นพิษ ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะ หรือ โรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ มีการทำงานมากเกินไป เกิดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย อาการที่พบคือ ใจสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่มหรือกลับผมลง บางคนมีผิวค่อนข้างชื้น บางคนมีอาการท้องเสีย ส่วนบางคนก็ตาโปนออก ฯลฯ ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์ไม่เป็นพิษ จะไม่มีอาการดังกล่าว พบแต่ต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นเท่านั้น
 มีความเข้าใจผิดและสับสนเสมอ ระหว่าง ไทรอยด์เป็นพิษกับมะเร็งไทรอยด์ ไทรอยด์เป็นพิษไม่ใช่มะเร็ง และมักจะพบว่าคนที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษไม่ค่อยเป็นมะเร็ง ไทรอยด์

ก้อนที่ไทรอยด์ เป็นโรคอะไรได้บ้าง
            ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อยกว่ากลุ่มอื่น คือ มีก้อนที่เจริญผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์เพียงก้อนเดียว ซึ่งเป็นโรคต่างๆ ได้หลายชนิด และหนึ่งในนั้น มีมะเร็งของต่อมไทรอยด์รวมอยู่ด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องให้การวินิจฉัย แยกโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
 
ผู้ป่วยที่มี ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพียงก้อนเดียว อาจเป็นโรคต่างๆ ได้ดังนี้
 1. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ (thyroid adenoma) พบได้ประมาณร้อยละ 20-30
2. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษร่วมด้วย (toxic adenoma) เป็นเนื้องอกที่สามารถผลิตฮอร์โมน (ปกติ thyroid adenoma จะไม่ผลิตฮอร์โมน) พบได้ไม่บ่อย
3. มะเร็งของต่อมไทรอยด์ (thyroid carcinoma) พบได้ร้อยละ 10-15 ในระยะเริ่มต้นจะเป็นก้อนเดี่ยว  ขนาดเล็ก และ โตขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายเป็นก้อนหลายก้อนในเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือ แพร่กระจายไปที่อื่น เช่นที่ต่อมน้ำเหลือง หรือ ที่กระดูก ฯลฯ
4. คอพอก หรือ คอหอยพอก (nodular goiter) ร้อยละ 50 - 60 ของก้อนเดี่ยวที่ต่อมไทรอยด์ มีความผิดปกติอยู่ในกลุ่มของคอหอยพอก ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะตรวจพบลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะพบการโตขึ้นของต่อมไทรอยด์ เป็นก้อนหลายก้อน หรือ โตที่คอทั้ง 2 ข้างได้ 

หากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นมะเร็งจะ มีอาการอย่างไร
            มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ กลายเป็นเนื้อร้าย ซึ่งมะเร็งไทรอยด์มักจะเริ่มเป็นก้อนเฉยๆ ที่บริเวณต่อมไทรอยด์(ด้านหน้าลำคอ) ต่อมาก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตมากขึ้น อาจมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเกิดเป็นก้อนขึ้นที่ด้านข้างลำคอ (ต่อมน้ำเหลือง) หรือมีก้อนตามตัวที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ศีรษะ ซี่โครง สะโพก ฯลฯ บางคนอาจมีอาการเสียงแหบ หรือก้อนใหญ่ขึ้นจนหายใจไม่สะดวก

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ หรือไม่
            มะเร็งไทรอยด์ เมื่อเป็นน้อยๆ มักไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ดังนั้น เมื่อพบก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอ ที่เคลื่อนขึ้น-ลง ตามการกลืนน้ำลาย ควรพบแพทย์ แพทย์จะทำการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเซลล์จากต่อมไทรอยด์มาตรวจ (fine needle aspiration) ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ วิธีนี้มีความแม่นยำ ประมาณ 80% แต่หากการเจาะเซลล์เพื่อตรวจไม่พบเซลล์มะเร็ง ก็อาจเป็นเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ หรือ คอหอยพอกได้ ในกรณีดังกล่าว แพทย์มักจะให้ยาเพื่อรักษาโรคคอหอยพอก และ นัดมาตรวจซ้ำ ในกรณีที่เป็นคอพอก ก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะมีขนาดเล็กลง และ หายได้ในที่สุด แต่หากก้อนนั้นไม่หาย ก็ควรจะคิดถึงโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก หรือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ ในกรณีนี้ แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดครับ

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด