หูอื้อ
หูอื้อ
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หูเป็นอวัยวะรับเสียงของร่างกาย โดยเสียงจะผ่านจากช่องหูชั้นนอกเข้าสู่แก้วหูและกระดูกหูซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นกลางโดยแต่ละส่วนจะมีคุณสมบัติพิเศษช่วยขยายสัญญาณเสียงให้ดังเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นเสียงจะถูกส่งเข้าหูชั้นในรูปหอยโข่ง (Cochlea) เพื่อแปลงสัญญาณเสียงเป็นคลื่นประสาท ส่งผ่านตามเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 เพื่อเข้าสู่สมองและแปลผลต่อไป
หูอื้อคืออะไร?
คือมีการได้ยินลดลง ความคมชัดของเสียงลดลง หรือบางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู
จะรู้ได้อย่างไรว่าหูอื้อ?
ส่วนใหญ่อาการหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนั้นตัวผู้ป่วยเองมักรู้สึกถึงความผิดปกติ แต่ในกลุ่มที่อาการค่อยๆ เป็น เจ้าตัวมักไม่ทราบต้องอาศัยผู้ใกล้ชิดปกติ เช่น เรียกไม่ค่อยได้ยินหรือเปิดโทรทัศน์เสียงดัง เป็นต้น
วิธีทดสอบการได้ยินด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ มีดังนี้ คือ
ลองใช้นิ้วมือถูกันเบาๆ หน้าหูทีละข้าง สังเกตความแตกต่างของระดับเสียงที่ได้ยิน ซึ่งการทดสอบนี้จะใช้ได้เมื่อหูสองข้างได้ยินไม่เท่ากันเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้หูอื้อ มีหลายสาเหตุพอแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ดังนี้
1) การอุดกั้นสัญญาณเสียง ซึ่งจะเกิดในส่วนของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง เช่น ขี้หูอุดตัน หูชั้นนอกอักเสบจากการปั่นหูหรือว่ายน้ำบ่อยๆ และหูชั้นกลางอักเสบจากหวัด เป็นต้น
2) ความผิดปกติในส่วนอวัยวะรับเสียงในหูชั้นในและหรือเส้นประสาทนำเสียงสู่สมอง
ถ้ารู้ว่าหูอื้อควรทำอย่างไร?
ต้องแก้ไขตามสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังนี้ คือ
- ขี้หูอุดตัน ไม่แนะนำให้ใช้การแคะหู เพราะมักจะเอาขี้หูไม่ออก แล้วยังจะทำให้ขี้หูอัดแน่นและถูกดันลึกมากขึ้น นอกจากนั้นอาจทำให้ช่องหูชั้นนอกเกิดแผล มีเลือดออกและมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ซึ่งเรียกว่าเกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบได้ ส่วนวิธีที่ปลอดภัยกว่า และแนะนำให้ใช้คือ ลองหยอดยาละลายขี้หู โดยหยอดให้ท่วมรูหูทิ้งไว้สักครู่แล้วเทออก ถ้ายังรู้สึกอื้อ ให้ทำซ้ำอีก 2 - 3 ครั้ง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหูร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อทำการตรวจหูโดยละเอียด และทำความสะอาดช่องหู
- อาการหูอื้อที่เกิดจากหวัด ควรได้รับการตรวจหูเพื่อดูความผิดปกติในหูชั้นกลาง และตรวจภายในโพรงจมูกร่วมด้วยเนื่องจากมักพบจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบได้บ่อย ในภาวะดังกล่าว
- อาการหูอื้อที่เกิดหลังจากได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด หรือหูอื้อที่เกิดขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีเสียงดังรบกวนในหู ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะตรวจช่องหูและอวัยวะอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุ จากนั้นจะส่งตรวจวัดระดับการได้ยิน และอาจส่งตรวจการทำงานของระบบประสาทหู และตรวจเลือดเพิ่มเติม
- กลุ่มหูตึงในผู้สูงอายุ ควรพาไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ ที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ และรับการประเมินระดับการได้ยินว่าสมควรใช้เครื่อช่วยฟังหรือไม่ เพื่อเลือกชนิดของเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละรายต่อไป
หูเป็นอวัยวะพิเศษของท่าน ต้องหมั่นดูแลรักษา... เพราะความพิเศษนี้มีให้มา... ครั้งเดียว