การทำผ่าตัดกล่องเสียง (Laryngectomy)

การทำผ่าตัดกล่องเสียง (Laryngectomy)

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

กล่องเสียง (larynx) เป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ
          ๑. ป้องกันอาหารไม่ให้ตกไปในหลอดลมขณะรับประทานอาหาร
          ๒. เป็นทางผ่านของอากาศในการหายใจ และ
          ๓. เป็นส่วนสำคัญในการเกิดเสียง
          ดังนั้น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ย่อมทำให้หน้าที่ดังกล่าวเกิดความบกพร่องหรือในบางรายต้องสูญเสียหน้าที่ไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด ซึ่งแตกต่างกันไปตามตำแหน่งและขนาดของเนื้องอกหรือมะเร็ง

แนวทางการรักษามะเร็งของกล่องเสียง
 
          การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับมะเร็งในระยะแรก (ขั้น ๑ และ ๒) การรักษาอาจจะเป็นการผ่าตัดหรือการฉายแสงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนมะเร็งในระยะลุกลาม (ขั้น ๓ และ ๔) การรักษาที่ได้ผลดีต้องใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง และ/ หรือเคมีบำบัด  ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะเสียชีวิตภายใน ๑ ปี สาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากการลุกลามของมะเร็งจนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก (airway obstruction) หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ เส้นเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ (massive bleeding) หรือกดหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้ เป็นต้น

การผ่าตัดกล่องเสียง
          การผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไปตามระยะของมะเร็ง สำหรับมะเร็งในระยะแรกการผ่าตัดจะเป็นเพียงการตัดบางส่วนของกล่องเสียงออกไป ซึ่งในที่สุดผู้ป่วยก็ยังสามารถหายใจและพูดได้โดยอาศัยกล่องเสียงในส่วนที่เหลืออยู่  แต่หากเป็นมะเร็งในระยะลุกลาม การรักษาจำเป็นต้องตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด (total laryngectomy) ผู้ป่วยกลุ่มหลังนี้จะมีรูเปิดของหลอดลมออกมาทางด้านหน้าของคออย่างถาวร ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้รูเปิดดังกล่าวนี้สำหรับการหายใจ และผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดมีเสียงได้ การผ่าตัดโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง

การดมยาสลบ
          มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เช่น ภาวะปอดแฟบ (lung atelectasis)  ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก (aspiration pneumonia) เป็นต้น
    
หลังผ่าตัด
          ผู้ป่วยจะยังคงได้รับสารน้ำและเกลือแร่เข้าทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยไม่สามารถกินอาหารทางปากได้ในช่วง ๒ สัปดาห์แรก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะได้รับอาหารเหลวทางท่อที่ใส่ผ่านทางจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร (nasogasrtric tube) โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ  หลังผ่าตัด ๑๐–๑๔ วัน แพทย์หรือพยาบาลจะทำการถอดสายให้น้ำเกลือและท่อให้อาหาร และเริ่มให้ผู้ป่วยกินอาหารทางปากตามปกติได้ นอกจากนั้นหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะยังคงมีสายสวนปัสสาวะคาอยู่ แพทย์หรือพยาบาลจะทำการถอดสายสวนให้ เมื่อผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นจากเตียงและช่วยเหลือตัวเองได้ดีแล้ว

ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด 
          การผ่าตัดกล่องเสียงในโรงพยาบาลศิริราชปัจจุบันมีผลแทรกซ้อนต่ำกว่าร้อยละ ๕  โดยเฉพาะหากผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคทางปอด (เนื่องจากมะเร็งกล่องเสียงพบในผู้สูบบุหรี่จัด) เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ และได้รับการแก้ไขภาวะทุพโภชนาการเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ปัญหาแทรกซ้อนที่อาจพบได้คือ มีการรั่วของผนังทางเดินอาหารในส่วนที่เย็บซ่อมไว้หลังจากการตัดกล่องเสียงออก (fistula) ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้ป่วยต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น เพื่อดูแลและทำความสะอาดแผล และจำเป็นต้องให้อาหารทางท่อให้อาหารนานกว่าปกติ จนกว่าแผลรูรั่วดังกล่าวจะสมานจนเป็นปกติ ผลแทรกซ้อนดังกล่าวนี้ไม่รุนแรงถึงชีวิต เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นและสิ้นเปลืองค่ารักษามากขึ้น

การฝึกพูดหลังผ่าตัด
          ในระยะยาว กรณีที่ตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด ผู้ป่วยจะพูดไม่มีเสียง แต่ในระยะต่อไปอาการจะดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับการฝึกพูดได้โดยวิธีสร้างเสียงจากหลอดอาหาร (esophageal voice) หรือใส่กล่องเสียงเทียม (tracheoesophageal prosthesis) หรือใช้เครื่องช่วยพูดแบบใช้ไฟฟ้า (electrolarynx) ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของผู้ป่วยและอาชีพ อนึ่งทางโรงพยาบาลศิริราชร่วมกับสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย จัดการฝึกพูดทุกสัปดาห์ โดยผู้ป่วยสามารถไปดูการฝึกพูดและพูดคุยกับสมาชิกของสมาคมก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าหลังผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะเป็นอย่างไรและยังได้ทราบว่ามีคนที่เจ็บป่วยในลักษณะเดียวกันอีกมาก ส่วนกรณีที่ตัดกล่องเสียงออกเพียงบางส่วน ผู้ป่วยจะพูดได้แต่เสียงเปลี่ยนไปจากเดิมโดยอาจฝึกฝนกับนักแก้ไขการพูด

ผ่าตัดแล้วหายหรือไม่ 
          ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะหายจากโรค แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในระยะลุกลาม (ขั้นที่ ๓ และ ๔) มีโอกาสกลับเป็นใหม่ หรือโรคลามไปที่ปอด หรือตับได้ ผู้ป่วยทุกรายจึงต้องมาพบแพทย์ตามนัดเป็นระยะ เพี่อได้รับการตรวจร่างกาย และ เอ็กซเรย์ปอด  โดยควรติดตามรักษาต่อไปไม่ต่ำกว่า ๕ ปี หลังการผ่าตัดรักษา

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด