มะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง ตอนที่ 1

มะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง

 

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

 Faculty of Medicine Siriraj Hospital

     คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

มะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง (Carcinoma of Larynx and hypopharynx)

            เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย โดยพบ 1-2 คนต่อประชากร  100,000 คนต่อปี  อัตราส่วน ชาย : หญิง 10 : 1 ,พบประมาณร้อยละ 2.8 ของมะเร็งทั้งหมด และพบในช่วงอายุ 50–60 ปี

สาเหตุของการเกิดมะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง

สาเหตุที่บ่งชี้ได้ชัดเจน คือ การสูบบุหรี่ และจะพบมากขึ้นในผู้ที่ดื่มสุราด้วย รวมถึง

การสูดเอาสารระคายเข้าไป หรือการใช้เสียงผิดปกติ ทำให้กล่องเสียงมีการอักเสบบ่อยๆ

อาการ

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการเสียบแหบ เสียงเปลี่ยน โดยไม่ค่อยมีอาการเจ็บคอ ซึ่งหากรอยโรคอยู่ที่ตำแหน่งของสายเสียง (laryngeal  cancer) จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้วินิจฉัยโรคได้เร็ว มีโอกาศรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเป็นที่ตำแหน่งคอหอยส่วนล่าง (hypopharyngeal cancer) ในระยะแรกเสียงจะไม่แหบ แต่จะรู้สึกเจ็บหรือร้อนในคอ อาการคล้ายก้างปลาติดคอ กลืนแล้วเจ็บ ผู้ป่วยมักคิดว่าคออักเสบ อาจซื้อยามากินเอง ต่อมามะเร็งลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของกล่องเสียง จึงทำให้เกิดเสียงแหบ

 

ระยะของโรค

            โดยทั่วไปแพทย์แผนปัจจุบันจะรักษามะเร็งตามระยะของโรคที่เป็น มะเร็งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามมาตรฐานสากล คือ

            ระยะที่ 1: มะเร็งอยู่เฉพาะอวัยวะที่เป็นโรคเท่านั้น ไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายออกไป

            ระยะที่ 2: มะเร็งยังอยู่เฉพาะอวัยวะที่เป็นโรค แต่มีขนาดโตขึ้น และเริ่มรบกวนการทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ

            ระยะที่ 3: มะเร็งลุกลามมากขึ้น อวัยวะที่เป็นโรคมักถูกทำลายจนผิดสภาพ และทำหน้าที่ผิดปกติไป และมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตขึ้นอย่างชัดเจน

            ระยะที่ 4: มะเร็งมีการลุกลามออกไปยังอวัยวะใกล้เคียงและ/หรือแพร่กระจายไปทางกระแสเลือด ไปที่อวัยวะอื่นที่อยู่ห่างจากต้นกำเนิดของมะเร็ง เช่น ปอด  ตับ  กระดูก  และสมอง เป็นต้น


การกระจายของโรค

มะเร็งกล่องเสียง  (Laryngeal cancer)  เจริญและกระจายช้ากว่ามะเร็งคอหอยส่วนล่าง(hypopharyngeal cancer) เนื่องจากสายเสียงมีเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองน้อย  อาการที่แสดงว่ามีการกระจายของโรค คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณกลางลำคอด้านข้างโต และจะกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายต่อไป

 

การวินิจฉัยโรค

          อาศัยการตรวจโดยใช้กระจกส่องในคอดูกล่องเสียง(Indirect laryngoscopy) วิธีนี้สามารถตรวจหาบริเวณที่เป็นมะเร็งได้ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะต้องทำการส่องกล้องเข้าไปดูโดยตรง (Direct laryngoscopy) แล้วตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่เป็นส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด