มะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง ตอนที่ 2

มะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง (ตอนที่2)

 

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน

ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

                                                                              

การรักษา

การรักษามะเร็งโดยทั่วไปมี  3 วิธีคือ

          1. การผ่าตัด เป็นการผ่าเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออกไป ซึ่งจะทำผ่าตัดมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของโรค โดยระยะที่ 1, 2 มักจะผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนเท่านั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถพูด และกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจเสียงแหบบ้าง  แต่ระยะ 3 ,4 มักจะต้องผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด  ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียงต่อไป แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารได้ปกติ

            2. รังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาด   และใช้ร่วมกับการผ่าตัดในการรักษามะเร็งระยะหลัง

            3. เคมีบำบัด เป็นการให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง  อาจใช้เป็นวิธีเสริมในการักษามะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง                                          

 

           การรักษามะเร็งกล่องเสียงและคอหอยส่วนล่าง ระยะเริ่มแรกจะใช้การฉายรังสีหรือการผ่าตัดป็นหลัก ทั้งนี้เพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่ยังสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ แต่ในระยะลุกลาม จะใช้การรักษาร่วม ระหว่างการผ่าตัดและฉายรังสีหรืออาจร่วมกับเคมีบำบัดในบางราย ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากการลุกลามของมะเร็งจนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวก (airway obstruction) หรือลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติ (massive bleeding) หรือกดหลอดอาหาร ทำให้ไม่สามารถกลืนอาหารได้ เป็นต้น

   

การรักษามะเร็งกล่องเสียงต้องเจาะคอ (เจาะรูหายใจที่คอ) หรือไม่

            สำหรับมะเร็งระยะเริ่มแรกมักไม่ต้องเจาะคอ  แต่ในรายที่ทำผ่าตัดมักจะต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจชั่วคราว จนกว่าแผลหายจึงจะถอดท่อออกได้  มีบางรายเท่านั้ที่ต้องใส่ท่อตลอดไป

            สำหรับผู้ที่เป็นมาก จนหายใจไม่สะดวกก็ต้องเจาะคอช่วยหายใจก่อน แล้วจึงทำการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องตัดกล่องสียงออกทั้งหมด  และเปิดหลอดลมเป็นรูหายใจที่คอ

         

หลังผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง จะพูดได้หรือไม่

             ถ้าตัดกล่องสียงออกทั้งหมด จะต้องฝึกพูดด้วยหลอดอาหาร (esophageal voice) หลังผ่าตัด  ซึ่งจะมีแพทย์  นักฝึกพูด และผู้ป่วยที่ตัดกล่องเสียงและพูดได้ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทยคอยให้ความช่วยเหลือ บางรายอาจพูดโดยอาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร หรือ ใช้เครื่องช่วยพูด

 

ข้อควรระวัง

            เมื่อมีอาการเสียงแหบนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นอาการไอ และเจ็บคอ ควรพบแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก หรือแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคมะเร็ง เพื่อส่องตรวจดู กล่องเสียง ไม่ใช่เพียงการตรวจคอตามปกติ     

 

การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
-ไม่สูบบุหรี่
-ไม่ดื่มสุรา


 

 

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด