มะเร็งต่อมลูกหมาก (ตอนที่ 3)

 

มะเร็งต่อมลูกหมาก (ตอนที่ 3)

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ไชยยงค์  นวลยง
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

การตรวจวินิจฉัยโรค

ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ก็ควรไปรับการตรวจเช็คต่อมลูกหมากจากแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้  การตรวจต่อมลูกหมากประกอบด้วย

1. การตรวจทางทวารหนัก  Digital Rectal Examination คือการตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่น ความแข็งของต่อมลูกหมาก หากเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมักคลำได้ก้อนแข็ง, ผิวขรุขระ

2. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด  คือ PSA (Prostate-specific antigen)  สารชนิดนี้จะถูกผลิตออกมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงสามารถวัดค่าได้โดยการเจาะเลือด ถ้าระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้

3. การตรวจอัลตราซาวน์ของต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal Prostatec Ultrasound) โดยการใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก

4. การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy)  แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก  ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดชิ้นเนื้อในขณะที่ทำการตรวจต่อมลูกหมากด้วยอัลตราซาวน์ เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาดูว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่  

 

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

1. ระยะเริ่มแรก มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกคือ การที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกไปนอกต่อมลูกหมาก เราสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้วิธีการรักษาหลายวิธี เช่น

1.  การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก (Radical Prostatectomy) มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด ซึ่งมักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุไม่มากนัก   ปัจจุบันนี้สามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง หรือใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopy)  ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ เจ็บแผลน้อย เนื่องจากเป็นแผลเจาะรู เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว การตัดเลาะต่อมลูกหมากทำได้โดยละเอียดแม่นยำ เนื่องจากภาพที่ขยายจากการส่องกล้อง  แต่ข้อเสียของการผ่าตัดคือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีอาการการควบคุมปัสสาวะสูญเสียไปชั่วคราวหรือภาวะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

 

2.  การฉายรังสี คือการฉายรังสีเข้าไปยังตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง หรือใช้การฝังแร่เข้าไปที่บริเวณต่อมลูกหมาก วิธีนี้จะมีโอกาสสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ น้อยกว่าการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก แต่อาจจะทำให้เกิดผลเสีย คือ อุจจาระบ่อย เกิดการระคายเคืองที่ทวารหนักและปัสสาวะลำบาก

 

2. การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแพร่กระจายเฉพาะที่ ในระยะนี้มะเร็งต่อมลูกหมากจะแพร่กระจายออกไปนอกตัวต่อมลูกหมากแล้วโดยที่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป  การรักษาในระยะนี้จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษามากกว่า 1 อย่าง เช่น การผ่าตัด การฉายแสง และ/หรือการให้ยา ซึ่งวิธีการจะเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค อายุผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์

 

3. การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม  ในระยะท้ายๆ ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น จะมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง, กระดูก, อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย  การรักษาที่นิยมคือการตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง (Bilateral Orchidectomy)   ซึ่งในบางรายอาจจะให้ยาต้านแอนโดรเจน (Anti Androgen) ร่วมด้วย  ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้การให้ยาช่วยลดการทำลายของกระดูก (Bisphosphonate) จะช่วยลดภาวะการเกิดกระดูกหักจากการที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกได้


การปฏิบัติตนของผู้ป่วย

การมาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แพทย์จะทำการซักอาการต่างๆ ตรวจร่างกายและทำการเจาะเลือดหาระดับ PSA เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ ในกรณีที่ PSA มีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าอาจจะมีการกำเริบของโรค ซึ่งจำเป็นแก่การรักษาเพิ่มเติม  ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อมีข้อสงสัยหรือเกิดอาการข้างเคียงใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาโดยทันที

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด