สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก

สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก

 

 

 ผศ.พญ.ศันสนีย์  เสนะวงษ์
ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ตรวจเลือดหามะเร็ง เขาตรวจหาอะไรกัน

            การตรวจเลือดชนิดต่างๆ เพื่อหามะเร็ง เช่น ตรวจ CEA, CA 15-3, Alpha-fetoprotein ฯลฯ ที่เราได้ยินจากโปรแกรมการตรวจเลือดต่างๆนั้น  เป็นการตรวจหา Tumor marker (สารบ่งชี้มะเร็ง)

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ สารบ่งชี้มะเร็งเบื้องต้น ได้จากบทความ ... ตรวจเลือด หามะเร็งได้จริงหรือ?

 

Tumor Marker  ที่ควรรู้จัก

Alpha-fetoprotein (AFP)

เป็นแอนติเจนในกลุ่ม oncofetal antigen ซึ่งสร้างเป็นปกติโดยเยื่อบุผิวของเซลล์ถุงไข่ (yolk sac), เซลล์ตับ และทางเดินอาหารของทารกในครรภ์มารดา  มีระดับสูงสุดในเลือดประมาณสัปดาห์ที่ 13 ของทารกในครรภ์  หลังจากนั้นจะมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อใกล้คลอด จนมีระดับเท่าระดับปกติในผู้ใหญ่ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด   จึงพบ AFP สูงได้ (แต่เป็นภาวะปกติ) ในเด็กในครรภ์มารดา ทารกแรกคลอด และหญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าทารกในครรภ์มีความผิดปกติในพัฒนาการของสมอง (neural tube defect) จะสามารถตรวจพบ AFP ในเลือดของมารดาและในน้ำคร่ำได้สูงกว่าระดับที่พบในหญิงตั้งครรภ์ปกติที่มีอายุครรภ์เท่ากันถึง  2-3.5  เท่า   คนทั่วไปจะตรวจพบ AFP ได้ในระดับต่ำๆ

AFP มักมีค่าสูงกว่าปกติมากในผู้ป่วย มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma)  และมะเร็งของรังไข่ และ/หรือ อัณฑะ ชนิด embryonal cell carcinoma   รวมทั้งยังอาจพบระดับสูงขึ้นได้ในมะเร็งปอด และมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร  โดยระดับ AFP ที่ตรวจพบมักจะสัมพันธ์กับระยะของโรคมะเร็งด้วย นั่นคือ ในมะเร็งระยะต้นมักพบ AFP สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จะสูงมากขึ้นเป็นลำดับในมะเร็งระยะท้าย  นอกจากนั้นยังอาจพบ AFP สูงขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคตับอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ระดับมักไม่สูงมากนัก

AFP เป็น tumor marker ที่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ตรวจหามะเร็งตับ ในกลุ่มที่เสี่ยง (high-risk population) ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis), ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี (hepatitis B carrier), ผู้ป่วยโรคตับแข็ง (cirrhosis) เป็นต้น  โดยแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3 - 6 เดือน และ/หรือ ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ (ultrasound) ของตับ 

 

Carcinoembryonic antigen (CEA)

เป็นแอนติเจนในกลุ่ม oncofetal antigen อีกชนิดหนึ่ง  ซึ่งสร้างเป็นปกติจากเซลล์ลำไส้  ตับ และตับอ่อนของทารกในครรภ์ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 2-6 เดือน   ในคนปกติสามารถตรวจพบ CEA สูงได้เล็กน้อยในคนที่สูบบุหรี่, หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน  รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร, ปอด, และตับ แต่ระดับมักไม่สูงมากนัก

CEA มักขึ้นสูงผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ ฯลฯ  โดยเฉพาะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะพบ CEA สูงได้มากและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ

                       

Prostate specific antigen (PSA)

เป็นเอ็นซัยม์ protease ชนิดหนึ่งซึ่งสร้างจากเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial cell) ของต่อมลูกหมากเป็นหลัก  รวมทั้งสร้างได้ในเซลล์เยื่อบุท่อปัสสาวะ ( para-urethral gland)  ดังนั้นจึงอาจพบ PSA ระดับต่ำๆ ในผู้หญิงได้เช่นกัน   

สามารถตรวจพบระดับ PSA สูงกว่าปกติได้ทั้งใน มะเร็งต่อมลูกหมาก  และภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign prostatic hyperplasia, BPH)

PSA  เป็น tumor marker อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ตรวจกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป  โดยแนะนำให้ตรวจ PSA ร่วมกับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (digital rectal examination)  และควรเจาะเลือดตรวจก่อนดำเนินการตรวจทางทวารหนัก เนื่องจากการกระทำใดๆ ต่อต่อมลูกหมาก เช่น การกดคลำ จะทำให้มีการปลดปล่อย PSA ออกจากต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ เป็นผลให้ระดับ PSA ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ในปัจจุบัน มีการตรวจเพิ่มเติมที่สามารถเพิ่มความจำเพาะต่อการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยไม่ลดความไวของการทดสอบลง  ได้แก่  การตรวจ  Free PSA : Total PSA ratio 

 

CA 125

เป็นสารโปรตีน glycoprotein ซึ่งพบอยู่บนผิวของเซลล์ที่มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ตัวอ่อนทารกชนิด embryonic coelomic epithelium

CA 125 มักมีค่าขึ้นสูงในผู้ป่วย มะเร็งรังไข่ ชนิด non-mucinous type   รวมทั้งมะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งตับ ฯลฯ 

นอกจากนี้ ยังอาจพบ CA 125 สูงกว่าปกติได้ในหญิงตั้งครรภ์  รวมทั้งผู้ป่วยที่มีการอักเสบของช่องท้อง (peritonitis) และอวัยวะภายในช่องท้อง, ตับอ่อนอักเสบ (acute pancreatitis), ตับแข็ง (cirrhosis), การอักเสบของอวัยวะภายในช่องเชิงกราน (pelvic inflammatory disease)

 

CA 19-9

เป็นแอนติเจน carbohydrate antigen ที่สามารถตรวจพบได้ในเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งของระบบเดินอาหาร, มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม ฯลฯ  

CA 19-9  จัดเป็น tumor marker ที่ดีที่สุดในการช่วยวินิจฉัยและติดตามผลการรักษา มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งของท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma)

นอกจากนี้ยังพบค่าสูงขึ้นได้ในโรคที่มีการอักเสบของตับ, ตับอ่อน, ท่อน้ำดีและถุงน้ำดี

 

CA 15-3

เป็นสารโปรตีน glycoprotein   มีค่าสูงขึ้นได้ในมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งตับ, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ เป็นต้น

CA15-3  มักใช้ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจาย  และการกลับเป็นใหม่ของโรคหลังการรักษา  ไม่นิยมใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม

 

Beta-human chorionic gonadotropin (beta-HCG)

เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง  ซึ่ง beta-HCG จะมีค่าขึ้นสูงในหญิงมีครรภ์  แต่จะสูงมากในผู้ป่วยครรภ์ไข่ปลาอุก (molar pregnancy), ผู้ป่วยมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก (choriocarcinoma), มะเร็งของรังไข่ และ/หรือ อัณฑะ ชนิด teratogenic carcinoma  รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายก็สามารถตรวจพบ beta-HCG สูงเกินปกติได้

ในคนปกติจะใช้  beta-HCG เป็น marker สำหรับตรวจสอบการตั้งครรภ์

 

Neuron-specific enolase (NSE)

เป็นเอ็นซัยม์ glycolytic enzyme ชนิดหนึ่ง            มักตรวจพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติในมะเร็งที่มีกำเนิดมาจากเซลล์ในกลุ่มระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ (neuroendocrine) เช่น  มะเร็งปอดชนิด small cell lung cancer, neuroblastoma และ pheochromocytoma

NSE จัดเป็น tumor marker ที่ดีที่สุดในการช่วยวินิจฉัยและติดตามผลการรักษา มะเร็งปอดชนิด small cell lung cancer  ซึ่งเป็นมะเร็งปอดที่มีการพยากรณ์โรครุนแรง

 

บทส่งท้าย

                จะเห็นได้ว่า สารบ่งชี้มะเร็งหลายชนิด สามารถตรวจพบได้ในคนปกติ ขณะเดียวกัน ก็อาจไม่พบความผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็ง ดังนั้นการเลือกใช้และแปลผลเกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็งจึงจำเป็นต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และ โดยผู้เชี่ยวชาญค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด