จะสูดหรือดูดก็เสี่ยงมะเร็งปอด

จะสูดหรือดูดก็เสี่ยงมะเร็งปอด

ผศ.นพ.แจ่มศักดิ์  ไชยคุนา
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในอันดับต้น ๆ ของประชากรเกือบทุกประเทศทั่วโลก แม้ว่าอาจไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากการวินิจฉัยโรคนี้ในระยะแรกไม่สามารถทำได้ดี ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยในระยะของโรคที่มากแล้ว

          สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่นอน  แต่มีข้อมูลทางการวิจัยว่า ความผิดปกติแรกเริ่มจะเกิดในระดับโครโมโซมของเซลล์  ซึ่งในเซลล์ที่เป็นปกติอยู่จะสามารถแก้ไขความผิดปกตินั้นได้เอง แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดความผิดปกติบ่อยครั้งขึ้น หรือเซลล์นั้นไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติที่เกิดได้ก็จะทำให้เกิดเซลล์ที่ผิดปกติอย่างถาวร ซึ่งจะเจริญเติบโตแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด


ต้องสูบบุหรี่เท่านั้นถึงจะเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ?
          ได้มีการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า “การสูบบุหรี่”  มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดและสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังได้กล่าวแล้วมากที่สุด  ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่  20 ถึง 30  เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่จำเป็นต้องสูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 1.2 ถึง 1.5 เท่า  นอกจากนี้ ยังพบว่าการได้รับสารบางอย่างก็ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ด้วย เช่น ควันรถ มลภาวะในอากาศ สารแอสเบสตอส ซีลีเนียม


          อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้มีผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมากไม่เคยมีประวัติการสัมผัสสารต่าง ๆ เหล่านี้เลย จึงทำให้วงการแพทย์หันมาค้นคว้าวิจัยหาคำตอบถึงความผิดปกติจากภายในยีนซึ่งกำลังเป็นที่สงสัยมากขึ้น และอาจมีสาเหตุมาจากสารอื่น ๆ ที่เรายังไม่รู้จักก็เป็นได้


รักษาได้หรือไม่

          ปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งปอดมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มแรกจะสามารถรับการรักษาจนหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังพบว่าปัญหาใหญ่ของการรักษาโรคนี้อยู่ที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดการลุกลามและแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งในร่างกายแล้ว นั่นเพราะหากป่วยในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวว่าเกิดความผิดปกติในร่างกาย 


วิทยาการความก้าวหน้าในการรักษาปัจจุบัน 
           1. การวินิจฉัยในระยะแรกเริ่ม  แม้ว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะเพื่อหาเซลล์มะเร็งเป็นประจำทุกปีในผู้ที่มีความเสี่ยงจะไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ แต่ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเริ่มจะมีผลการรักษาที่ดีกว่า  ดังนั้นในบางประเทศก็ยังแนะนำให้ใช้การตรวจชนิดนี้อยู่  นอกจากนี้ยังมีความพยายามใช้การเอกซเรย์ที่มีความละเอียดสูงขึ้นร่วมกับการย้อมเสมหะด้วยวิธีพิเศษที่จะทำให้เห็นเซลล์ผิดปกติได้ง่ายขึ้นซึ่งแม้จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้กับประชากรทั่วไป


           2. การผ่าตัด นับเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อระยะของมะเร็งนั้นเป็นไม่มาก และไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ขั้วปอด หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ  ...การพัฒนาเทคนิคของการผ่าตัดให้มีแผลผ่าตัดที่เล็กลงจากการส่องกล้องและใช้การผ่าตัดแบบสงวนปอด ช่วยให้ผู้ป่วยทนต่อการผ่าตัดได้ดีขึ้นและสามารถฟื้นจากการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว


          3. ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ทั้งเป็นการป้องกันการกลับเป็นใหม่และลดอาการที่เกิดจากโรค การค้นพบยาชนิดใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลงและได้ผลต่อโรคมากขึ้นและมียาบางชนิดสามารถให้ได้โดยการรับประทาน   ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากขึ้น


          4. การฉายรังสี ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีที่ทำให้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีในขนาดที่สูงขึ้น โดยที่อวัยวะรอบข้างไม่ได้รับผลกระทบจากรังสีชนิดนั้น ๆ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง


          5. การรักษาประคับประคอง เป็นวิธีที่พยายามช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติที่สุด โดยอาศัยการควบคุมอาการต่าง ๆ ของโรค เช่น อาการเหนื่อย  ไอ  จนถึงขั้นไอเป็นเลือด ซึ่งทำได้โดยการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ดีที่สุด


           เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งปอดยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก แม้จะมีวิทยาการการแพทย์ที่ก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ  การป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่น่าจะเป็นมาตรการที่ได้ผลดี


           อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ แต่บุคคลกลุ่มนี้ก็ยังจะมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดที่สูงอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ในอดีต ดังนั้นการรณรงค์ให้มีการตรวจร่างกายเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่มีอาการผิดปกติทางการหายใจ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอจนเป็นเลือด อาจทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะต้นซึ่งจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น


           แม้ว่ามะเร็งปอดจะเป็นโรคที่ยังมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงอยู่แต่เป็นที่คาดว่าด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ที่มากขึ้นของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ประกอบกับความตระหนักของสังคมในด้านการป้องกันและเฝ้าระวังโรค   น่าจะทำให้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดลดลงในอนาคต

บุหรี่  1   มวน
คนสูบ 1 คน พ่นควันพิษให้กับคนอื่น ๆ อีก 9 คน คนที่สูบ 20 มวนต่อวัน มีโอกาสเป็นมะเร็ง
มากขึ้นเป็นเงาตามตัว คนสูบมีโอกาสเป็นสูงถึง
20 เท่าของคนไม่สูบ พ่อที่สูบบุหรี่ขณะที่ลูกอยู่ด้วย ลูกมีโอกาสป่วยเป็นหอบหืดถึงร้อยละ 20 - 40 ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ชนิดใด ๆ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะมีสารพิษ ได้แก่ นิโคติน  ทาร์  และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด