รับมือไบโพลาร์

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว คือโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่ผิดปกติจะแบ่งได้เป็น 2 ขั้ว ได้แก่ ช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าว และอารมณ์ซึมเศร้า โดยในช่วงที่มีอารมณ์ผิดปกติมักจะคงอยู่นานแทบทั้งวัน และมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์

อาการของโรคมี 2 ช่วง คือ
          1. ช่วงอารมณ์ดีหรือก้าวร้าว ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีมากขึ้นหรือครึกครื้นกว่าปกติ หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ ร่วมกับความรู้สึกว่ามีพลังงานล้นเหลือหรือมีกิจกรรมในแต่ละวันมากขึ้นผิดสังเกต ร่วมกับอาการอื่นๆ ได้แก่
                   1) เชื่อมั่นในตนเองมากหรือ รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก
                   2) ไม่ต้องการการนอนหลับพักผ่อน
                   3) พูดมากกว่าปกติหรือหยุดพูดไม่ได้
                   4) ความคิดแล่นเร็ว
                   5) ว่อกแว่กง่าย ไม่มีสมาธิ
                   6) มีกิจกรรมที่มีจุดหมายเพิ่มขึ้นมาก (ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านสังคม การเรียนการทำงาน หรือเรื่องเพศ) หรือกระสับกระส่ายมาก
                   7) หมกมุ่นกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลินแต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมา (เช่น ฟุ่มเฟือย สำส่อนทางเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจโดยไม่ยั้งคิด)
          2. ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หรือไม่มีความสุขหรือหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ ร่วมกับอาการอื่นๆ ได้แก่
                   1) มีความต้องการอาหารมากขึ้นหรือลดลง หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
                   2) นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
                   3) กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้ามากขึ้น
                   4) อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรง
                   5) รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือมีความรู้สึกผิดที่มากผิดปกติ
                   6) สมาธิแย่ลง หรือตัดสินใจอะไรได้ยากขึ้น
                   7) คิดถึงเรื่องการตายหรือคิดฆ่าตัวตาย

            ในคนปกติย่อมจะมีอารมณ์เศร้า หงุดหงิด หรือคึกคัก ขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต แต่การที่จะบอกว่าผิดปกตินั้น อาจจะสังเกตได้จากอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าพื้นอารมณ์ของคนๆ นั้น หรือมากกว่าบุคคลทั่วไปเป็นเวลานาน ร่วมกับส่งผลกระทบต่อความรู้สึกสุขทุกข์ของเจ้าตัวหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน การเรียน หรือความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ซึ่งถ้าผู้ป่วยหรือบุคคลรอบข้างสงสัยสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาโรคอาจจะรุนแรงจนส่งผลให้มีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน หรือหลงผิด และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยหรือบุคคลรอบข้างได้

            ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นไบโพลาร์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงกว่าบุคคลทั่วไป สำหรับสาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจน แต่จากงานวิจัยต่างๆ พบว่าน่าจะสัมพันธ์กับความผิดปกติของการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ฮอร์โมน ความผิดปกติของการนอน หรือสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ โดยปัจจัยภายนอกบางอย่างสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคได้ เช่น ความเครียดหรือเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต การใช้ยาเสพติดรวมถึงแอลกอฮอล์และกัญชา

            การรักษาหลักในโรคไบโพลาร์ คือการรักษาด้วยยาเพื่อลดอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค สำหรับการทำจิตบำบัดหรือการดูแลทางจิตสังคมจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นและสามารถลดการกลับเป็นซ้ำของโรคได้

การดูแลสำหรับผู้ป่วยและญาติ
            1. ถ้าหากว่าสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเจ็บป่วย ควรปรึกษาจิตแพทย์ที่ผู้ป่วยสะดวกเข้ารับบริการ
            2. ศึกษาผลของยาที่ได้รับและผลข้างเคียง
            3. รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำและไม่หยุดยาเอง
            4. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
            5. ตื่นนอนและเข้านอนเป็นเวลา
            6. หมั่นสังเกตอารมณ์ตนเองอยู่เสมอ และหากมีอาการเปลี่ยนแปลงควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบ
            7. เรียนรู้วิธีการผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกการหายใจหรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
            8. สำรวจหาสิ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้นอาการ ควรหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเวลาเผชิญหน้ากับปัญหาหรือปัจจัยกระตุ้น
            9. หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด รวมถึงแอลกอฮอล์ กัญชา และคาเฟอีน

            โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รักษาอย่างต่อเนื่องจะสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนบุคคลที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค

เอกสารอ้างอิง

  1. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders, fifth edition (DSM-5). American Psychiatric Association. 2013.
  2. Smith D, Jones I and Simpson S. Psychoeducation for bipolar disorder. Advances in psychiatric treatment. 2010;16:147-154.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด