ไข้เลือดออก ป้องกันได้….แต่ถ้าเป็นแล้วล่ะ!

ไข้เลือดออก ป้องกันได้…แต่ถ้าเป็นแล้วล่ะ!

รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

             ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่(Denguevirus)พบใน”ยุงลาย”(Aedes aegypti)เชื้อไวรัสเดงกี่จะอาศัยอยู่บริเวณผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง ดังนั้นเมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ที่ต่อมน้ำลายไปกัดคน เท่ากับว่าคนคนนั้นรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปเต็ม ๆ และจะมีอาการไข้ประมาณ 2-7วัน ซึ่งในช่วงนี้หากยุงกัดผู้ป่วยก็จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นต่อไป 
           
*เชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4สายพันธุ์ โดยทั่วไปหากผู้ป่วยได้รับเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์ ก็จะมีเพียงภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ ซึ่งอาจมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้อีกจากเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์อื่น ๆ

สังเกตตนเอง ถ้ามีอาการต่อไปนี้อาจเป็นไข้เลือดออก
            - มักจะมีไข้ขึ้นสูง 2-7วัน(อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส)
            - เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง
            - ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เลือดออก
            อาจมีอาการปวดท้อง เนื่องจากมีตับโตในช่องท้อง
            *ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะอาการไม่มากและหายได้เอง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรง เลือดออกมาก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร หรือมีสารน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดมากจนความดันต่ำ ช็อก และหมดสติ

วินิจฉัยได้ง่ายหรือไม่
            จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น ลำพังเพียงมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจจะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวอื่น ซึ่งยากต่อการวินิจฉัยของแพทย์ แต่หากมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว ก็จะทำให้แพทย์สงสัยถึงเรื่องไข้เลือดออกมากขึ้น ดังนั้นในการวินิจฉัย แพทย์จึงต้องคำนึงถึงโรคไข้เลือดออกก่อนเสมอ
            ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไข้แบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่แพทย์ตรวจไม่พบแหล่งติดเชื้อเฉพาะที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย ก็จะต้องทำการซักประวัติและสอบถามถึงสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก คือ อยู่ในละแวกที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างดี
            ปัจจุบันสามารถนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เป็นบางกรณี อาทิ การตรวจนับเม็ดเลือด และจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยเชิงลึก ซึ่งต้องพิจารณาจากอาการเป็นกรณี ๆ ไป

รักษาได้หรือไม่
            โรคไข้เลือดออก มักจะพบมากในเด็ก แต่กว่าจะมั่นใจว่าเป็นไข้เลือดออก แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการก่อนแล้ว อาทิ คลื่นไส้ อาเจียนมาก กินน้ำและอาหารได้น้อย ปากแห้ง ก็จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และหากมีอาเจียนมีเลือดปน หรือถ่ายดำ จะต้องให้เลือดทดแทน หลังจากมีไข้ หากมีมือเท้าเย็น เนื่องจากความดันเลือดต่ำ จะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในปริมาณที่มากขึ้นอย่างทันท่วงที
            ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในวันแรกๆไม่มาก แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปดูอาการที่บ้านได้ ร่วมกับให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้คอยสังเกตอาการของเด็ก และจะนัดไปตรวจร่างกายเป็นระยะๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไปตรวจตามแพทย์นัด และหากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือไม่แน่ใจ ให้ไปพบแพทย์ก่อนนัดได้ โดยเฉพาะในช่วง 5-7 วันของอาการไข้

การปฏิบัติตัวขณะป่วย
            1.ดื่มน้ำ หรือน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ วิธีสังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ คือ ให้สังเกตปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่
           2.รับประทานยาลดไข้ให้ใช้ยาพาราเซตามอล ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามเกินขนาด เพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบจากยาพาราเซตามอลได้
           3.ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย และมากขึ้นได้
           4.หากอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนมาก ดื่มน้ำเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย มือเท้าเย็น ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายว่าผู้ป่วยอาจมีความดันเลือดต่ำและช็อกได้
            5.โรคไข้เลือดออก ไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือรับประทานอาหารร่วมกัน
            6.เมื่อมีไข้หากจะอาบน้ำ ให้อาบด้วยน้ำอุ่น หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น เพราะหากใช้น้ำเย็น ผู้ป่วยจะสูญเสียความร้อนจากร่างกายมาก อาจเกิดอาการสั่นได้

เราสามารถป้องกันได้เพียง....
      1.พยายามอย่าให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง หากต้องการทำงานอยู่ในที่ที่อาจมียุงกัด ให้ทายากันยุงที่ผิวหนัง
      2.ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและบริเวณรอบบ้าน เช่น
        - ปิดตุ่มน้ำ
        - เลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง
        - น้ำหล่อขาตู้กับข้าวให้ใส่ทรายอเบท
        - ขวดแก้ว ภาชนะที่อาจมีน้ำขังให้คว่ำ
        - หลุมบ่อรอบบ้านที่อาจมีน้ำขัง ให้กลบทำลายเพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

     โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ ด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย(บริเวณ หรือ ภาชนะที่อาจมีน้ำขัง)และป้องกันไม่ให้ยุงลายมากัดเราได้ เช่น นอนในมุ้ง หรือทาโลชั่นกันยุง

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด