รู้ทันมะเร็งปากมดลูก ด้วย Siriraj liquid based cytology
รู้ทันมะเร็งปากมดลูก ด้วย Siriraj liquid based cytology
ผศ.นพ.สมศักดิ์ ไหลเวชพิทยา
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วันมะเร็งโลกเพิ่งผ่านไปไม่นาน โรคมะเร็งในประเทศไทยยังถือเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด เฉลี่ยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 6,000 คน และเสียชีวิตถึงปีละ 2,600 คน โดยแต่ละวันจะมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 7 คน นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคนี้ยังเป็นกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป และผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักปฏิเสธการตรวจภายในเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกเพราะอายและกลัวการตรวจ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส หรือเรียกย่อว่า เอชพีวี (HPV) เชื้อนี้ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์ มักพบในผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือการมีคู่นอนหลายคน มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ ตรวจพบจากการตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี ในรายที่มีเลือดออกหรือตกขาวผิดปกติ มักพบว่ามะเร็งลุกลามไปมากแล้ว แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน ถ้าเป็นระยะเริ่มแรกมักรักษาหายด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นระยะลุกลามต้องรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด แต่มะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้
ในระยะหลายปีที่ผ่านมา วิทยาการทางการแพทย์ทำให้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเรายังคงพบหญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกได้เสมอ เนื่องจากการตรวจคัดกรองที่ยังไม่สามารถให้บริการการตรวจนี้แก่สตรีที่มีโอกาสเป็นโรคได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในการตรวจคัดกรองนั้นแพทย์จะตรวจไปพร้อมกับการตรวจภายในประจำปี และในปัจจุบันการตรวจคัดกรองนี้ กล่าวโดยรวมมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
วิธีแรก เป็นการตรวจหา DNA ของเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก วิธีนี้จะมีความไวของการตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูกสูงมาก แต่มีราคาแพง และยังทำได้ในสถานพยาบาลไม่กี่แห่ง
ส่วนวิธีที่ 2 เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกหรือที่เรียกกันติดปากว่า การตรวจแป๊ป สเมียร์ เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติแบบดั้งเดิม สถานพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้วิธีนี้กัน เนื่องจากมีราคาถูก แต่ปัญหาคือ มีความไวของการตรวจหาเซลล์ผิดปกติค่อนข้างต่ำ หมายความว่าตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติที่มีอยู่ หากขณะตรวจภายในมีตกขาวผิดปกติจากการอักเสบของปากมดลูก ช่องคลอด หรือปากมดลูกมีการติดเชื้อ หรือยังมีเลือดประจำเดือนอยู่ ทำให้มีการปนเปื้อนและบดบังเซลล์ที่มีความผิดปกติ จึงตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติที่มีอยู่ได้
ปัจจุบันมีวิธีในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติด้วยวิธีใหม่ และใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ การตรวจหาเซลล์ผิดปกติด้วยของเหลวที่เรียกว่า liquid-based cytology วิธีการนี้พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนเทคนิคการตรวจแป๊ปสเมียร์แบบดั้งเดิม ข้อดีคือมีความไวของการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกสูงกว่าเดิม แต่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูงกว่าการตรวจด้วยแป๊ปสเมียร์ 3 - 5 เท่า คือประมาณ 650 - 950 บาท เนื่องจากชุดตรวจและเครื่องมือในการเตรียมเซลล์นั้นมีราคาแพง วิธีนี้นิยมใช้ในต่างประเทศ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยบางแห่งเท่านั้น ไม่สามารถนำมาบริการครอบคลุมหญิงไทยทุกคนได้
ดังนั้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ค้นคิดพัฒนาชุดตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกด้วยของเหลว และวิธีการเตรียมเซลล์จนเป็นผลสำเร็จและจดลิขสิทธิ์ภายใต้ชื่อ Siriraj liquid - based cytology พบว่ามีความไวและความจำเพาะของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ดีเช่นเดียวกับชุดตรวจด้วยของเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งค่าตรวจก็ถูกกว่า35 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับการตรวจด้วยแป๊ปเสมียร์แบบเดิมซี่งมีค่าตรวจประมาณ 150 บาท วิธีนี้ถือเป็นการป้องกันไม่ให้เซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชได้ให้บริการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกด้วยของเหลวเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกและลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต นับเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัยให้ดีที่สุด
ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก Siriraj liquidbased cytology ประกอบด้วย ขวดน้ำยาที่ใส่ Siriraj liquid based solution10 ซี.ซี. และไม้พลาสติก Siriraj liquid-based spatula สำหรับเก็บเซลล์ หลังจากที่แพทย์เก็บเซลล์ที่ปากมดลูกแล้ว จะหักส่วนปลายของไม้พลาสติกทั้ง 2 ด้านใส่ลงไปในขวดน้ำยาดังกล่าว แล้วส่งไปยังห้องปฏิบัติการโดยมีวิธีการเตรียมเซลล์ดังนี้
1. นำขวดน้ำยาดังกล่าวมาเขย่าบนเครื่องเขย่าประมาณ 10 วินาที แล้วเทใส่หลอดพลาสติกก้นแหลม
2. นำหลอดเข้าเครื่องปั่น ประมาณ 10 นาที จากนั้นเทน้ำยาส่วนบนทิ้ง
3. เติมน้ำยา Siriraj liquidbased solution ประมาณ 3 เท่าของตะกอนเซลล์ที่ก้นหลอด
4. นำมาเขย่าบนเครื่องเขย่า ประมาณ 10 วินาที เพื่อให้ตะกอนเซลล์แตกตัวอย่างสม่ำเสมอ
5. ดูดน้ำยาที่มีเซลล์มาประมาณ 1520 ไมโครลิตร แล้วนำมาหยดบนสไลด์แก้ว และเกลี่ยเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ทิ้งไว้ให้แห้ง
6. นำสไลด์ไปแช่ในแอลกอฮอล์ 95% ประมาณ 20 นาที แล้วนำไปย้อมสีตามปกติ หลังจากนั้นจึงนำไปตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติด้วยกล้องจุลทรรศน์ต่อไป
ทั้งนี้ได้รายงานผลการวิจัยในหญิงไทย โดยใช้ชุดตรวจและวิธีการเตรียมเซลล์ Siriraj liquidbased cytology ในวารสารนานาชาติทั้งภาคพื้นเอเชีย (The Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, ปี 2551) และยุโรป (The European Journal of Obstetrics & Gynecology and Reproductive Biology ปี 2552) ว่าเป็นชุดตรวจและวิธีการเตรียมเซลล์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มีความพร้อมและยินดีที่จะถ่ายทอดและฝึกอบรมวิธีการเตรียมเซลล์ด้วยวิธีนี้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขของประเทศไทย อีกทั้งวิธีนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการได้ คาดว่าในอนาคตหญิงไทยจะมีโอกาสได้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างทั่วถึง
ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตรงเป้าหมาย ทั้งลดการสูญเสียงบประมาณของรัฐบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมาก.