สายเสียงอักเสบ และวิธีถนอมเสียง (ตอนที่ 2)
สายเสียงอักเสบ และวิธีถนอมเสียง (ตอนที่ 2)
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาวะแทรกซ้อน
กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อและการระคายเคือง ส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนน้อยที่อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบตามมา ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น บุหรี่ การใช้เสียงมากเกินก็อาจทำให้เกิดตุ่มที่สายเสียงได้
การดำเนินโรค
ผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ มักจะมีอาการเสียงแหบอยู่นาน 1 สัปดาห์ หรือทุเลาหลังได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงไม่กี่วัน ส่วนผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการใช้เสียง สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด เมื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น จากโรคกรดไหลย้อน หรือใช้เสียงผิดวิธีก็มักจะเป็นอยู่นานตราบเท่าที่ยังสัมผัสสิ่งระคายเคืองนั้น ๆ หรือเป็น ๆหาย ๆ ไปเรื่อย ๆ
การป้องกัน
หมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ระวังอย่าให้เป็นหวัด (โดยหลีกเลี่ยงความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การโดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ) หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น การสูบบุหรี่, ดื่มเหล้าจัด, สารเคมี, การใช้เสียงมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มมีอาการเสียงแหบ
วิธีการถนอมเสียง
เป็นการปฏิบัติตน เพื่อถนอมสายเสียงและลดอันตราย หรือความเสียหายต่อสายเสียง ซึ่งควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย เพื่อให้เรามีเสียงพูดไว้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะถ้าเราต้องใช้เสียงในการประกอบอาชีพ เช่น อาชีพทนาย, ครู, พนักงานขายของ, พ่อค้าหรือแม่ค้า, พนักงานรับโทรศัพท์, พนักงานประชาสัมพันธ์, นักแสดง, นักร้อง หรือนักการเมือง วิธีการถนอมสายเสียงนั้นต้องอาศัยเวลา ความตั้งใจจริง อดทน ความสม่ำเสมอในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย
สิ่งที่ควรทำ
ควรพูดด้วยเสียงดังพอเหมาะ ไม่ควรตะโกน กรีดร้อง ส่งเสียงเชียร์ หรือหัวเราะเสียงดัง
ควรพูดด้วยระดับเสียงสูง ต่ำที่เหมาะสมกับเพศและวัยของตนเอง ไม่ควรพูดโดยใช้เสียงสูงหรือต่ำเกินไป
ควรพูดแบบสบาย ๆ ไม่ควรเค้นเสียงพูดหรือเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า คอ ไหล่ ขณะพูด
ควรฝึกนิสัยการหายใจที่ถูกต้องขณะพูด โดยใช้กล้ามเนื้อท้องเป็นหลักในการหายใจ ขณะหายใจเข้าหน้าท้องควรจะค่อย ๆ ป่องออก ขณะหายใจออกหน้าท้องควรยุบเข้าไป ไม่ควรพูดขณะหายใจเข้า หรือกลั้นหายใจพูด ควรพูดขณะหายใจออก และผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน และควรหายใจเข้าและออกทางปากขณะพูด
ควรขยันดื่มน้ำมาก ๆ และบ่อย ๆ ในผู้ใหญ่ควรดื่มวันละ 8 10 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตรต่อวัน การดื่มน้ำอุ่นจะทำให้สายเสียงและคอชุ่มชื้น ช่วยละลายเสมหะได้ดีขึ้น ไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้ชนิดง่วง และยาแก้อาการคัดจมูก (ยาหดหลอดเลือด เช่น pseudoephedrine) ซึ่งจะทำให้สายเสียงและคอแห้ง
ควรเข้าไปใกล้ผู้ฟังในขณะพูด เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดเสียงดัง
ควรหาอุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้ที่มีอาชีพต้องใช้เสียง เช่น ไมโครโฟน จะได้ไม่ต้องตะโกน หรือตะเบ็งเสียงขณะพูด
ถ้ารู้สึกแน่นๆ ในคอ เจ็บคอ ควรหายใจเอาไอน้ำร้อนเข้าไป (steam inhalation) จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ ทำให้คอโล่งขึ้น แล้วทำให้สายเสียงและคอชุ่มชื้น
ถ้ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการออกเสียง หรือเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะมีอาการไอ ควรรีบปรึกษาแพทย์
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
หลีกเลี่ยงการพูดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรมีเวลาสำหรับหยุดพักการใช้เสียงด้วย เช่น ทุกครึ่ง-1 ชั่วโมง
หลีกเลี่ยงการพูดแข่งกับเสียงดังอื่น ๆ หรือพูดในที่มีเสียงดังรบกวน เช่น เสียงเครื่องจักร เสียงเพลง เสียงรถยนต์ เสียงจอแจต่าง ๆ ถ้าจำเป็นควรเขยิบไปใกล้ ๆ ผู้ฟัง หรือใช้เครื่องขยายเสียงช่วย
หลีกเลี่ยงการร้องเพลงหรือพูดมาก ขณะป่วยร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย, มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (เช่น เป็นหวัด หรือเจ็บคอ) หรือขณะออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการพูดขณะอยู่ในสภาพจิตใจและอารมณ์ผิดปกติ เช่น โมโห ตกใจ กลัว
หลีกเลี่ยงการพูดกระแทกเสียง เน้นคำ หลีกเลี่ยงการกระซิบ หรือบ่นพึมพำในลำคอ
หลีกเลี่ยงการไอ กระแอม ขากเสมหะ หรือจามบ่อย เพราะจะทำให้สายเสียงกระทบกับอย่างรุนเเรง ถ้ามีอาการเหล่านี้บ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา เมื่อใดรู้สึกว่ามีเสมหะ จำเป็นต้องกระแอม ควรกลืนหรือดื่มน้ำ ไอ กระแอม หรือขากเสมหะเบา ๆ
หลีกเลี่ยงการพูดดัดเสียง หรือเลียนเสียงแปลก ๆ ควรใช้จังหวะการพูดที่ดี ไม่พูดเร็วเกินไปจนหายใจไม่ทัน ควรพูดช้า ๆ และหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพื่อหายใจ
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป
หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับบุคคลที่กำลังสูบบุหรี่
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด ร้อนจัด เย็นจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวาน หรือมันจนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำลายหรือเสมหะ เหนียวข้น รู้สึกระคายคอ ทำให้อยากไอกระแอมมากขึ้น
หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง ควันพิษ อากาศไม่บริสุทธิ์ หรือสารเคมีที่ ๆ มีอากาศแห้งหรือเย็นจนเกินไปเช่น ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกล่องเสียงและสายเสียงได้ง่าย
หลีกเลี่ยงการใช้ยาอมแก้เจ็บคอ แก้ไอ ยาสเปรย์พ่นคอ ซึ่งมีส่วนผสมของยาชา จะทำให้ใช้เสียงได้มากขึ้น ทำให้การอักเสบของสายเสียงแย่ลง
ข้อควรระวังมิให้สายเสียงอักเสบ
เมื่อเราได้ทราบถึงสาเหตุของสายเสียงอักเสบแล้ว ควรป้องกันสาเหตุซึ่งบางอย่างก็ทำได้ บางอย่างก็ทำไม่ได้หรือทำยาก เช่น
- สายเสียงอักเสบ หลังจากเป็นหวัดก็ป้องกันไม่ให้เป็นหวัด หรือเมื่อเป็นหวัดแล้วก็ต้องรีบรักษา โดยรับประทานยา ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้พอเพียง หรือในขณะที่อากาศร้อน อย่านอนเป่าพัดลมตรงมาที่ตัว เพราะการหายใจเอาลมที่แห้งและเย็นเข้าไปตลอดเวลา จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง และเกิดการอักเสบของสายเสียงตามมาได้ง่าย เมื่อเป็นหวัดหรือเจ็บคอ ถ้าทำได้ควรใช้เสียงให้น้อยลง
- ในเด็ก การเชียร์กีฬาด้วยเสียงที่ดัง เป็นการแสดงความพร้อมเพรียง และทำให้เกิดความสนุก แต่ก็ควรระมัดระวัง เมื่อรู้สึกคอแห้งมากก็ไม่ควรตะโกนต่อไป เพราะจะทำให้สายเสียงอักเสบตามมาได้
- การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุทำให้เกิดสายเสียงอักเสบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงจากการสูบบุหรี่ หรือพยายามสูบให้น้อยลงหรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ (กรณีไม่ได้สูบ) เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดสายเสียงอักเสบ
- ผู้ป่วยที่มีการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก ไซนัสหรือมีหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สามารถทำให้สายเสียงอักเสบเรื้อรังได้ การไอบ่อย ๆ ทำให้สายเสียงกระแทกกัน และเชื้อโรคที่อยู่ภายในเสมหะที่ไอออกมา อาจผ่านสายเสียงออกสู่ภายนอก ทั้งการไอและทั้งเชื้อโรคในเสมหะ ทำให้สายเสียงอักเสบได้
"เพียงเท่านี้
..สายเสียงของเราก็ห่างไกลจากการอักเสบแล้วละครับ"