เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูกและข้อ

เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูกและข้อ

อ.นพ.บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospitas
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า “เฝือก” เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดามกระดูกให้เข้าที่ แต่ในความเป็นจริงเฝือกมีบทบาทอื่นอีก และใช้อย่างไรจึงเกิดประโยชน์สูงสุด มีความรู้มาฝากค่ะ

เฝือก
            จากวันนั้นถึงวันนี้ เฝือกได้มีพัฒนาการมาแล้วหลายรุ่นตั้งแต่ทำจากไม้ ลักษณะเป็นซี่ถักติดกันเป็นแผ่นสำหรับดามกระดูกหัก ซึ่งแพทย์แผนโบราณจะจัดดึงกระดูกให้เข้าที่ แล้วทาด้วยน้ำมันมนต์ พันห่อแขนขานั้น ๆ ไว้ด้วยเฝือก เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นได้อยู่นิ่ง ๆ เป็นการลดความเจ็บปวด ลดบวม และทำให้กระดูกหักนั้นติดกันดีดังเดิม ต่อมาได้มีการพัฒนาวัสดุอื่นมาใช้เป็นเฝือกแทนไม้ ได้แก่ ปูน ปลาสเตอร์หรือเฝือกปูน และสารสังเคราะห์ หรือที่มักเรียกว่า “เฝือกพลาสติก” ทำจากไฟเบอร์กลาส เรซิ่น ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง และยังปรับแต่งรูปทรงให้เหมาะสมกับอวัยวะส่วนนั้น

เฝือกมีอยู่ 2 ชนิดคือ
           1.เฝือกปูน ทำจากปูนพลาสเตอร์มาเคลือบบนผ้าฝ้าย เมื่อใส่แล้วก็จะมีสีขาวนิยมใช้กันเนื่องจากราคาค่อนข้างถูก การใส่เฝือก การตัดเฝือก ดัดเฝือกก็ทำได้ง่าย แต่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แตกร้าวง่าย ระบายอากาศไม่ค่อยดี อาจทำให้คันเพราะความอับชื้น ยิ่งถูกน้ำเฝือกก็จะเละเสียความแข็งแรง ซึ่งเมื่อใส่เฝือกปูนแล้วจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน เฝือกจึงแข็ง ดังนั้นจึงไม่ควรเดินลงน้ำหนักก่อนเมื่อใส่เสร็จใหม่ ๆ 
           2.เฝือกพลาสติก เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี แข็งแรง ทนทาน และเมื่อถ่ายภาพรังสี จะเห็นกระดูกได้ชัดเจนกว่าแต่ราคาแพง เวลาตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ยาก ทำให้ต้องตัดออกและใส่เฝือกใหม่อีกครั้ง แต่ข้อดีคือ เฝือกพลาสติกแห้งเร็วภายใน 1 ชั่วโมง

เมื่อไหร่เข้าเฝือก 
            1.กระดูก ข้อเคลื่อนหรือหัก ในรายที่ได้รับบาดเจ็บหรืออักเสบของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นประสาท หรือเป็นโรคกระดูก เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่ง ๆ ทั้งลดอาการปวด บวม อักเสบของอวัยวะนั้นให้ทุเลาลง และหายเป็นปกติโดยเร็ว
            2.แก้ไขความผิดรูปของอวัยวะ เช่น เท้าปุกให้กลับมามีรูปทรงที่ปกติ และทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป 
            3.ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น แผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 

ดูแลตนเองและเฝือก   
            โดยทั่วไปถ้าไม่มีปัญหา แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำประมาณ 1-2 อาทิตย์หลังใส่เฝือก เพื่อดูอาการและดูว่าเฝือกหลวมหรือไม่ ถ้าเฝือกหลวมก็อาจต้องเอ็กซเรย์และเปลี่ยนเฝือกให้ใหม่ ถ้าเฝือกแน่นและแข็งแรงดีอยู่ แพทย์ก็จะนัดทุก 1-2 เดือน เพื่อเอ็กซเรย์กระดูกจนกว่ากระดูกจะติดสนิท ซึ่งแพทย์จะใส่เฝือกไว้ประมาณ 4-6 อาทิตย์ แต่กระดูกจะติดสนิทนั้นจะต้องใช้เวลาถึง4-6 เดือน ดังนั้นถึงแม้ว่าจะเอาเฝือกออกแล้ว กระดูกที่หักก็ยังติดไม่สนิทจึงควรระมัดระวังในการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่เช่นนั้นกระดูกที่เริ่มติดก็อาจจะหักซ้ำได้ ทำให้ต้องมาเริ่มต้นรักษากันใหม่ แต่ในขณะที่ใส่เฝือกอยู่ต้องระวัง ดังนี้  
            1. อย่าทำให้เฝือกเปียกน้ำ 
            2. อย่าตัดเจาะหรือใช้ของแข็งแยงเข้าไปในเฝือก
            3. หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะใส่เฝือกอยู่ ควรพบแพทย์โดยด่วน
            - เมื่อมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น หรือบวมที่บริเวณต่ำกว่าขอบเฝือก เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดี
            - เมื่อนิ้วมือหรือนิ้วเท้าข้างที่เข้าเฝือก มีสีเขียวคล้ำ หรือซีด ขาวบวมมากขึ้นหรือมีอาการชา
            - เมื่อไม่สามารถขยับเขยื้อนนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าข้างที่ใส่เฝือกได้
            - เมื่อมีวัตถุแปลกปลอมหลุดเข้าไปในเฝือก อาจทำให้เกิดแผลกดทับและติดเชื้อตามมาได้
            - เมื่อพบว่าเฝือกหลวม บุบสลายหรือแตกหัก
            มีเลือด น้ำเหลือง หรือหนองไหลซึม ออกมาจากเฝือกหรือมีกลิ่นเหม็น  

ใช้เฝือกได้ดังหวัง        
            1.เฝือกต้องมีความกระชับกับอวัยวะนั้นๆ มากที่สุด ไม่หลวม หรือ แน่นคับจนเกินไป
            2.มีความยาวเพียงพอ โดยครอบคลุมข้อที่อยู่เหนือและต่ำลงไปกว่าอวัยวะที่ต้องการให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวได้
            3.เฝือกต้องมีความแข็งแรงพอ ไม่บุบสลาย ไม่อ่อนนิ่ม หรือไม่หักได้ง่าย

อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเข้าเฝือก 
            1.เฝือกหลวม เนื่องจากอวัยวะภายในเฝือกยุบบวมลง หรือเข้าเฝือกไม่กระชับตั้งแต่แรก
            2.เฝือกคับหรือแน่นเกินไป จากการบวมที่เกิดหลังการเข้าเฝือก
            3.การเข้าเฝือกนานเกินไป ทำให้ข้อติดยึด
            4.การถอดเฝือกออกเร็วเกินไปโดยที่กระดูกยังไม่ติดกันดี ทำให้การเคลื่อนหลุดของปลายกระดูกที่หัก เกิดติดผิดรูปติดช้าหรือไม่ติด

            พึงเข้าใจการเข้าเฝือกเป็นวิธีรักษาอย่างหนึ่ง มิใช่การลงโทษหรือการซื้อขายของ ที่อาจต่อรองลดหย่อนในลักษณะที่ผิดหลักการได้ คุณอาจรู้สึกรำคาญ หงุดหงิด แต่นั่นก็คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณหายจากโรคได้

 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด