การนอนในวัยต่างๆ (ตอนที่ 1)

การนอนในวัยต่างๆ (ตอนที่ 1)

อ.ดร.ปุณฑริกา  สุวรรณประเทศ
ภาควิชาสรีรวิทยา ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งของการนอนในคนเรา คือ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์  ยกตัวอย่างเข่น แฝดแท้ หรือ แฝดเหมือน (identical twins) จะมีลักษณะหรือรูปแบบของการนอนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันมากกว่าในแฝดเทียม หรือ แฝดต่าง (nonidentical twins) หรือในเครือญาติ 

            ความแตกต่างของรูปแบบการนอนและการตื่น  ดูเหมือนจะเป็นสมบัติติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด  มีการจัดแบ่งลักษณะอย่างไม่เป็นทางการ เช่น พวกที่เป็นนกฮูก (night owls) หรือคนที่ชอบนอนดึก และพวกที่เป็นนกกระจาบ (larks) หรือคนที่ชอบตื่นเช้า  นอกจากนี้ก็ยังมีการแยกประเภทคนและการนอนตามคุณภาพของการนอน คือ พวกที่นอนหลับลึก (deep sleepers) และพวกที่นอนหลับตื้น (light sleepers)  หรือแบ่งตามชั่วโมงของการนนอน คือ พวกที่นอนสั้น คือ น้อยกว่า 6 ชั่วโมง (short sleeperes) และ พวกที่นอนยาว คือมากากว่า 8 ชั่วโมง (long sleepers)

            นอกจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์แล้ว  ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่มีผลต่อการนอนของเรา  ปัจจัยของอายุก็นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่ง  เนื่องจากอายุมีผลต่อจำนวนชั่วโมงการนอนในแต่ละคืน

            ในเด็กแรกเกิด  จะมีการนอนหลับแบบหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งวัน  นับเป็นชั่วโมงโดยประมาณ 18 ชั่วโมง  โดยที่ครึ่งหนึ่งของกานนอนจะเป็นการนอนแบบที่มีการกรอกของลูกตาแบบเร็ว หรือที่เรียกว่า REM sleep (rapid eyes movement sleep)  นอกจากนี้วงจรของการนอน (sleep cycle) 1 รอบ โดยนับจากการนอนที่ไม่มีการกรอกลูกตาแบบเร็ว (non-REM sleep) ไปยัง  REM sleep  จะสั้น  คือน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงโดยประมาณ  พออายุประมาณ 4 สัปดาห์ การนอนหลับแบบหลับๆ ตื่นๆ จะลดลง คือมีการนอนในแต่ละครั้งนานขึ้น  ประมาณ 6 เดือน  จะมีการนอนในช่วง non-REM sleep มากขึ้น  เริ่มมีพฤติกรรมการนอนที่มีรูปแบบมากขึ้น คือนอนได้ยาวนานขึ้นในตอนกลางคืน และมีการนอนช่วงสั้นๆ ในเวลากลางวัน  ช่วงเช้าและช่วงบ่าย (napping)  

            พอโตขึ้นอีกหน่อย  ในวัยก่อนเข้าโรงเรียน  ช่วงเวลาของการนอนตอนกลางวันจะสั้นลง  สั้นลงเรื่อยๆ  ในช่วงอายุประมาณ 6 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะตื่นตลอดวัน และนอนประมาณ 10 ชั่วโมง ในตอนกลางคืน

            ระหว่างอายุ 7 ขวบ ถึง วัยเริ่มหนุ่มสาว (puberty) การสร้างสารเมลาโทนิน (melatonin, สารสื่อประสาทที่มีความสำคัญต่อขบวนการนอนหลับ) จะมีการหลั่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับอายุช่วงอื่น  ทำให้การนอนของเด็กในวัยนี้เป็นการนอนที่ลึก (deep sleep) และมีคุณภาพ (restorative sleep) ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างการและสมอง   จะเห็นได้ว่าเด็กในวัยนี้มีความสดชื่น แจ่มใส ไม่มีอาการง่วงหวาวหาวนอนในเวลากลางวัน  ดังนั้น ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ  ถ้าลูกหรือญาติของท่านซึ่งอยู่ในวัยนี้มีอาการง่วงหวาวหาวนอนในเวลากลางวัน   ควรหาสาเหตุของการเกิด หรือพาไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด