ผลกระทบของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ระเบิดที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

ผลกระทบของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ระเบิดที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

 

รศ.ดร.รุจพร  ชนะชัย

ภาควิชารังสีวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โดยแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จากขบวนการการแตกตัวหรือเรียกทั่วไปว่าขบวนการฟิสชัน  โดยอาศัยจากธาตุเริ่มต้นคือ ธาตุยูเรเนี่ยม-235 หรือธาตุพลูโทเนียม-239 ทำให้เกิดขบวนการแบ่งนิวเคลียสหนักออกเป็นสองธาตุเล็ก ในการแตกตัวสามารถทำให้เกิดผลผลิตที่ได้เป็นสารกัมมันตรังสี  และนิวตรอนจำนวนมหาศาลก่อให้เกิดการแตกตัวต่อไปอีก ขบวนการนี้เกิดในลักษณะลูกโซ่ ในทางทฤษฏีจะเกิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราต้องควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่ให้เหมาะสมของการใช้งาน ถ้าไม่สามารถควบคุมได้มันก็คือระเบิดปรมาณูนั่นเอง แต่กรณีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นสามารถควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่ได้ และนำความร้อนที่เกิดขึ้นไปใช้งานเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า  การแตกตัวของ 235U ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู ทำให้เกิดสารกัมมันตรังสีหลายชนิดรวมถึง ธาตุไอโอดีน-131 ด้วย

 

ฝุ่นกัมมันตรังสีมาจากไหน

            ฝุ่นกัมมันตรังสีสามารถรั่วไหลออกจากแท่งเชื้อเพลิงได้หลายทาง ส่วนใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาในวงกว้างคือรั่วจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แท่งเชื้อเพลิงเสียหาร หรือการระเบิดของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สาเหตุจากเครื่องขัดข้อง หรืออุบัติเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง การไม่ควบคุมตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นต้น เมื่อเสียหายโอกาส การฟุ้งกระจายหรือการรั่วไหลออกไปภายนอกจะมากหรือน้อย ขึ้นกับระดับความเสียของแท่งเชื้อเพลิง  และการระเบิดกระจายเป็นฝุ่นผงเล็กๆ ไปทั่วบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุและกระจายสู่ชั้นบรรยากาศเคลื่อนที่ไปตามกระแสลม และตกลงที่พื้นดินก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต เมื่อสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายโดยการปนเปื้อนจากอาหาร ทางอากาศโดยการหายใจเข้าไป ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ชนิดของสารกัมมันตรังสี ความเข้ม ชนิดของรังสี ระยะเวลาและปริมาณ เช่นสารไอโอดี-131 สามารถเข้าสู่ร่างกายและไปจับที่ต่อมไทรอยด์ของเราได้

 

การตรวจวัดสารกัมมันตรังสีเพื่อเฝ้าระวัง

มีสารกัมมันตรังสีมาถึงประเทศไทยหรือไม่ คำถามนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลสำหรับประชาชนทั่วไป ขอชี้แจงเบื้องต้นว่า ในประเทศไทยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มสารกัมมันตรังสีในอากาศอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวัง ซึ่งโอกาสการแผ่กระจายเข้ามาถึงในระดับอันตราย โอกาสก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมีน้อยมาก จึงไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด