หูดหงอนไก่...ไม่ถึงตายแต่ทำลายความมั่นใจ (ตอนที่ 2)

หูดหงอนไก่...ไม่ถึงตายแต่ทำลายความมั่นใจ (ตอนที่ 2)

 

อ.พญ.เจนจิต  ฉายะจินดา

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ทำไมการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีตามธรรมชาติไม่สามารถก่อให้เกิดภูมิต้านทานของตัวเองได้อย่างเพียงพอ

        เนื่องจากไวรัสเอชพีวี ไม่ทำให้เซลล์ตายหรือสลายไป  รวมทั้งไม่ทำให้มีการอักเสบ  การติดเชื้อมักจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง  จึงไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อไวรัสมากพอที่จะเกิดภูมิต้านของตนเอง  ในขณะที่การผลิตวัคซีนทำโดยการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสอย่างมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นแล้วเอาเพียงส่วนเล็กๆของไวรัสที่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานแต่ไม่ก่อให้เกิดโรคมาบวกกับสารกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย  เมื่อฉีดเข้าร่างกายทำให้ร่างกายมีการตอบสนองอย่างมากและสร้างภูมิต้านทานในระดับที่สูง

การฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงหรือไม่

        จากข้อมูลที่มีการใช้วัคซีนชนิด 4สายพันธุ์ ไปทั่วโลก  มีการรายงานผลข้างเคียงที่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง  เรียงตามลำดับ  ดังต่อไปนี้  เป็นลม (8.2 ราย:100,000 เข็ม) บวมแดงที่ตำแหน่งฉีดยา (7.5 ราย: 100,000 เข็ม) เวียนศีรษะ (6.8 ราย:100,000 เข็ม) คลื่นไส้ (5.0 ราย:100,000 เข็ม) ปวดศีรษะ (4.1 ราย:100,000 เข็ม) ปฏิกิริยาไวต่อยา (3.1 ราย:100,000 เข็ม)  และผื่นลมพิษ (2.6 ราย:100,000 เข็ม)

จะทำอย่างไรเมื่อคุณตรวจพบว่าคุณติดไวรัสเอชพีวี

        ในปัจจุบันการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีทำได้ง่ายโดยใช้อุปกรณ์ชุดเดียวกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก  การรายงานผลอาจเป็นชนิดความเสี่ยงสูง/ ชนิดความเสี่ยงต่ำ  หรือบอกเป็นชนิดสายพันธุ์ของเอชพีวี  ผลที่ได้อาจทำให้คุณเกิดความกังวลใจมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง  การที่ทราบผลเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้คุณตระหนักและมารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอเพื่อค้นหารอยโรคให้เร็วที่สุด

        อย่างที่ทราบกันว่าหญิงชายวัยเจริญพันธุ์ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้มากถึงร้อยละ 75  และกำจัดออกไปได้เกือบทั้งหมดที่ 2 ปี  การมีไวรัสเอชพีวี จะต่างจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือ เริม  เพราะร่างกายสามารถกำจัดได้เองหากภูมิต้านทานของร่างกายดี 

        การพูดคุยกับคู่นอนอย่างตรงไปตรงมาน่าจะมีประโยชน์  เพราะเขาหรือเธอคนนั้นน่าจะได้รับเชื้อไปแล้วถึงแม้ว่ายังไม่แสดงอาการใดๆ  การมีไวรัสเอชพีวีไม่ได้หมายความว่าว่าคู่นอนคนใดคนหนึ่งมีการนอกใจกัน เป็นการยากที่จะบอกว่าคุณได้รับเชื้อมาจากใครหรือเมื่อไหร่  เพราะไวรัสชนิดนี้สามารถติดได้จากการสัมผัส ยิ่งไปกว่านั้น  ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจไวรัสเอชพีวีในผู้ชายที่น่าเชื่อถือ  จึงมักตรวจไม่พบไวรัสในผู้ชายแต่เขายังคงสามารถถ่ายทอดเชื้อได้

เมื่อคุณทราบว่าคู่นอนของคุณมีหูดหงอนไก่

        ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะหูดหงอนไก่เป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต  แค่ทำให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจเท่านั้น  คุณและคู่นอนสามารถดำเนินชีวิตทุกอย่างได้ตามปกติ  คุณควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่คู่นอนของคุณมีรอยโรคหูดหงอนไก่อยู่  จนกว่าคู่นอนจะได้รับการรักษา  หูดหงอนไก่เป็นภาวะที่สามารถรักษาได้  แต่ยังคงสามารถถ่ายทอดเชื้อไปให้คู่นอนแม้ไม่มีอาการ   คุณควรหมั่นตรวจที่อวัยวะเพศของคุณเพื่อหารอยโรค  หรืออาจไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจหาหูดหงอนไก่และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น

หูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ  

        หูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ (Recurrent Respiratory Papillomatosis; RRP)  เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย  แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อทั้งครอบครัวของผู้ป่วย  ทั้งเรื่องการรักษาที่เรื้อรังและค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เกิดขึ้น  สาเหตุเกิดจากฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (เอชพีวี) สายพันธุ์ 6 และ 11  เหมือนกับสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ  พบได้ประมาณ 1-4 ต่อประชากร 100,000 คน  แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามอายุของผู้ป่วย ได้แก่ กลุ่มเด็ก (อายุน้อยกว่า 12 ปี) และกลุ่มผู้ใหญ่ 

หูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ

       ทางเดินหายใจปกติหมายถึงตั้งแต่โพรงจมูกลงไปถึงถุงลมในปอด   หูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจมักพบที่กล่องเสียงมากที่สุด  ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบ  หรืออุดกั้นทางเดินหายใจจนเสียชีวิตได้ 

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะนี้

        ช่วงอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุ 2 – 4 ปี และ 20 – 40 ปี  โดยในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อจากแม่ในระหว่างการคลอด  ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในแม่ที่ตั้งครรภ์แรก อยู่ในช่วงวัยรุ่น คลอดทางช่องคลอด  และมารดาเพิ่งมีรอยโรคขึ้นมาใหม่  สำหรับในผู้ใหญ่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก

มีอาการเป็นอย่างไร

        อาการที่พบมากที่สุดคือ เสียงแหบ  โดยจะมีแหบมากขึ้นเรื่อยๆ  อาจมีการหายใจติดขัด  มีการไอเรื้อรัง  รู้สึกเหมือนทางเดินหายใจอุดกั้นเป็นช่วงๆ  เป็นปอดบวมบ่อย  สำหรับในเด็กอาจมีอาการกลืนลำบากจนไม่โตตามเกณฑ์

        ภาวะดังกล่าว หากปล่อยทิ้งไว้  ส่วนหนึ่งสามารถหายเองได้  ส่วนหนึ่งเป็นเท่าเดิม  บางคนอาจมีก้อนโตขึ้น  โดยพบว่าร้อยละ 2 – 3 ของผู้ป่วยจะกลายเป็นมะเร็ง  โดยในกลุ่มที่เป็นมะเร็งนั้นมักพบปัจจัยเสริมอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ สูบบุหรี่ เคยฉายแสงที่บริเวณคอ ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 ด้วย

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะนี้

        ผู้ป่วยมีอาการและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้  แพทย์จะทำการส่องกล้องลงไปดูในคอหอยเพื่อหารอยโรค  โดยขั้นตอนนี้ต้องใช้ยาระงับการต่อต้านตามธรรมชาติของร่างกาย  ในบางกรณีอาจถึงขั้นต้องให้ยาสลบ  ลักษณะของรอยโรคจะเห็นเป็นตามรูป

มีการรักษาแบบใดบ้าง

        ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการมักลงเอยด้วยการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อน  เพื่อช่วยเรื่องทางเดินหายใจ ลดอาการเสียงแหบ  การตัดออกทำได้หลายวิธี เช่น การใช้เลเซอร์  การใช้มีด  หรือการใช้จี้พิเศษที่มีขนาดเล็กและสามารถใส่เข้าไปในทางเดินหายใจได้  การผ่าตัดแบบนี้ทำได้ยากมากตั้งแต่ขั้นตอนการดมยาสลบ  ผู้ป่วยอาจขาดอากาศหายใจเป็นบางช่วงได้  นอกจากนี้ธรรมชาติของรอยโรคนี้ มักกระจายไปทั่ว  ทำให้ไม่สามารถกำจัดทั้งหมดได้ในครั้งเดียว

        ในเด็กที่มีอาการมักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเฉลี่ย 4.4 ครั้งต่อปี  รวมประมาณ 19.7ครั้งในช่วงชีวิต  ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้มากกว่าครึ่งได้รับการผ่าตัดมากกว่า 5 ครั้งในช่วงชีวิต  ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่พบได้บ่อยคือแผลเป็น  เป็นผลให้หลอดลมตีบและหายใจลำบากในระยะยาว

        ดังนั้น  จึงมีผู้พยายามคิดค้นยาเพื่อควบคุมอาการในระยะยาว  โดยข้อบ่งชี้ของการให้ยาหลังการผ่าตัด ได้แก่ ได้รับการผ่าตัดมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ปี  รอยโรคกระจายลงไปไกลมากจนไม่สามารถผ่าตัดลงไปถึง  และก้อนโตเร็วมากหลังการผ่าตัด  ซึ่งยาแต่ละตัวที่ใช้ก็มีผลข้างเคียงและราคาที่ค่อนข้างสูง

โรคนี้สามารถป้องกันได้หรือไม่

        วัคซีนไวรัสเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ น่าจะเป็นวิธีการป้องกันที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด  เพราะป็นการลดปริมาณไวรัสเอชพีวีในประชากรทั้งหมด  ทำให้การถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารก  หรือระหว่างคู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก  สำหรับการผ่าตัดคลอดบุตรไม่ลดการเกิดหูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจในทารกจึงไม่แนะนำให้ทำเพราะเหตุผลนี้

หูดหงอนไก่ในผู้ชาย

        หูดหงอนไก่ในผู้ชายพบน้อยกว่าผู้หญิงมากเนื่องจากลักษณะผิวหนังที่อวัยวะเพศที่ไม่มีซอกหลืบหรือความชุ่มชื้นมากเท่าของผู้หญิง โดยตำแหน่งที่พบมากที่สุดคือ บริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวขององคชาต  ผู้ชายร้อยละ 1-73 ได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีมาแล้วและสามารถถ่ายทอดต่อไปให้คู่นอนได้  ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ได้แก่ จำนวนคู่นอน พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ (ชายรักชาย)  การใช้ถุงยางอนามัย  เชื้อชาติ  เผ่าพันธุ์  และการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ  ผู้ที่ยังไม่ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศจะมีการกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ช้ากว่า

        ในกลุ่มชายรักชาย  จะพบมีหูดหงอนไก่รอบทวารหนักหรือในทวารหนักได้มากขึ้นกว่าคนทั่วไป  ซึ่งการรักษาในตำแหน่งดังกล่าวทำได้ยากมาก  เพราะไม่ว่าจะใช้ยาหรือการผ่าตัด  หูดหงอนไก่ก็มักเกิดซ้ำได้บ่อย  การรักษาหลายครั้งจะทำให้เกิดทวารหนักตีบและมีปัญหาในการขับถ่ายตามมาได้  ก้อนที่อยู่ลึกเข้าไปในทวารหนักอาจโตมากจนทำให้ท้องผูก  บางครั้งมีเลือดออกหรือบิดขั้วจนต้องผ่าตัดฉุกเฉิน  ต้องดมยาสลบเป็นเรื่องราวใหญ่โต  นอกจากนี้มักพบการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 ร่วมด้วยได้บ่อย  ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทวารหนักได้

บทส่งท้าย    

        หูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน  เนื่องจากเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายและไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสนี้ไปจากร่างกายได้หมดสิ้น  การรักษาทำได้ไม่ยากแต่มักไม่หายขาดและกลับซ้ำได้บ่อย  ปัจจุบันมีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ยังไม่เคยรับเชื้อมาก่อนโดยการฉีดวัคซีนไวรัสเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด