
อาจารย์คณะวิทย์ฯ ม.มหิดล รับรางวัลปาฐกถาสุด แสงวิเชียร ครั้งที่ 40
วันนี้ (18 พ.ย.52) เวลา 13.30 น. ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มอบรางวัลปาฐกถาสุด แสงวิเชียร ประจำปี 2552 แก่ ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ภาควิชาชีวเคมีและหัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางด้านโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พร้อมกันนี้ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง "FROM STRUCTURAL BIOLOGY TOWARDS A BETTER UNDERSTANDING OF LIFE " (จากชีววิทยาด้านโครงสร้างสู่ความเข้าใจชีวิตที่ดีขึ้น) ณ ห้องประชุมตรีเพ็ชร อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 รพ.ศิริราช
ศ.ดร.ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เผยว่าชีววิทยาด้านโครงสร้างครอบคลุมถึงการศึกษาโครงสร้างของระบบทางชีวภาพต่าง ๆ ทุกระดับตั้งแต่ระดับชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ โครงสร้างใหญ่กว่าโมเลกุลออร์กาเนล เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ จนถึงร่างกายทั้งหมด ในปัจจุบันเนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ชีววิทยาด้านโครงสร้างจึงครอบคลุมและเชื่อมโยงศาสตร์เดิมต่าง ๆ เช่น กายวิภาคศาสตร์ และชีวเคมี เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและกลไกการทำงานของสิ่งมีชีวิต
จากการที่ ศ.ดร.ม.ร.ว. ชิษณุสรร มีความสนใจด้านเคมีของโปรตีนมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี และได้มีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับสาขานี้ในห้องปฏิบัติการชั้นนำที่มีความโดดเด่นในเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับโปรตีน รวมทั้งได้เรียนรู้จากนักชีววิทยาด้านโครงสร้างชั้นนำของโลกหลายท่าน ไม่เพียงแต่เรียนรู้เกี่ยวกับโปรตีนเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล นอกจากการสอนแล้ว ท่านยังได้ทำงานวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนควบคู่ไปด้วย โดยมีจุดยืนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมงานวิชาการ งานวิจัยของท่านได้ครอบคลุมแนววิจัย 2 ชนิดคือ 1. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน และ 2. การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในปริมาณหรือโครงสร้างของโปรตีนที่ทำให้เกิดโรค นอกจากนี้ท่านยังมีโอกาสทำงานบริหารที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล สมาคมวิชาชีพ รวมทั้งองค์กรวิทยาศาสตร์นานาชาติ ล่าสุด ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวเคมีสถาบันวิจัยจุฬำภรณ์ และสิ่งที่ทำให้ท่านสนุกกับงานเป็นเวลากว่า 35 ปี นั้น เป็นเพราะมุมมอง “วิทยาศาสตร์สามารถเป็นศูนย์กลางในการก่อให้เกิดการรวมตัวรวมใจบุคคลจากมหาวิทยาลัย/สถาบันต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั้งที่มีเชื้อชาติต่างกัน ศาสนาต่างกัน อุดมการณ์ต่างกัน อุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันให้ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์”
รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานกรรมการสรรหาผู้รับรางวัลปาฐกถา สุด แสงวิเชียร ประจำปี 2552เผยว่า จากการประชุมของคณะอนุกรรมการสรรหาฯ มีมติเห็นพ้องต้องกันว่า ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลในปีนี้ ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งในงานด้านชีวเคมีจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ท่านมีบทความวิจัยระดับนานาชาติ ประมาณ 140 เรื่อง บทความวิชาการระดับนานาชาติอื่นๆ ประมาณ 28 เรื่อง และมีตำราชีวเคมีภาษาไทยอีก 5 เล่ม
ปาฐกถาสุด แสงวิเชียร เป็นชื่อปาฐกถาที่ขนานนามขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะที่เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งของวงการแพทย์ไทย โดยเป็น “ครูแพทย์” ที่เคารพรักแห่งศิษย์ เป็นนักวิชาการที่ใฝ่ใจศึกษาค้นคว้าในวิทยาการหลายสาขาอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้งและต่อเนื่อง ปาฐกถาสุด แสงวิเชียรได้รับการริเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2513 เป็นปาฐกถาทางวิชาการที่กำหนดให้มีขึ้นเป็นประจำปีละครั้ง โดยสรรหาบุคคลที่มีผลงานการศึกษาค้นคว้า หรือปฏิบัติงานทางวิชาการดีเด่นในแขนงต่างๆ ที่กำหนดไว้ ได้แก่ วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก พันธุศาสตร์ แพทยศาสตร์ศึกษา ประวัติเวชศาสตร์ เวชนิทัศน์ บรรณารักษศาสตร์ มานุษยวิทยากายภาพ โบราณชีววิทยา เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และชีววิทยา ทั้งนี้โดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา และสถาบัน หากเป็นชาวต่างประเทศ ผลงานนั้นจะต้องกระทำในประเทศไทย หรือเป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องของประเทศไทย โดยผู้รับรางวัลจะได้รับเหรียญทองเกียรติยศและเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท